หน้า:ตำนานกฎหมายเมืองไทย - ดำรงราชานุภาพ - ๒๔๙๓.pdf/35

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๒๙

บาลกรุงกัมภูชานี้ ปรากฏในบานแพนกว่า พึ่งรวบรวมในครั้งสมเด็จพระนโรดมเมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๔๑๘ ตรงกับในรัชกาลที่ ๕ กรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง พิเคราะห์ดูความ เป็นกฎหมายตั้งใหม่ก็มีบ้าง เอากฎหมายเดิมมารวบรวมก็มีบ้าง มีเรื่องเล่ากันว่า เมื่อองค์สมเด็จพระนโรดมจะตั้งกฎมนเทียรบาลนี้ ได้หารือเรสิดังฝรั่งเศส ทำนองเรสิดังคนนั้นจะไม่ชำนาญภาษาเขมร คงไม่ตรวจตราถ้วนถี่ จึงให้อนุมัติ ครั้นตั้งกฎหมายนี้แล้ว มีคดีอันใดอันหนึ่งเกิดขึ้นที่ในวังเมืองพนมเป็ญ องค์สมเด็จพระนโรดมจะลงอาญาตามกฎมนเทียรบาล เรสิดังฝรั่งเศสแย้งว่า อาญาแรงนักเกินกว่าความผิด องค์สมเด็จพระนโรดมโต้ว่า กฎหมายนี้ เมื่อจะตั้ง ฝรั่งเศสก็ได้เห็นชอบยอมให้ตั้งแล้ว ไยจะมาห้ามไม่ให้บังคับคดีตามกฎหมาย เกิดทุ่มเถียงกัน แต่ลงปลายจะยุติอย่างไร หาทราบต่อไม่


อันกฎหมายกรุงกัมพูชามีลักษณะและประเพณีคล้ายคลึงกับกฎหมายของไทยเราโดยมาก ที่หลักเดิมเหมือนกันทีเดียวก็มี เช่น ลักษณะโจร กับลักษณะรับฟ้องความโจรกรรม คาถาและข้อความตอนต้นล้วนแต่คัดมาจากคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ที่ได้ฉะบับไปจากไทย แต่ส่วนตัวบทกฎหมายนั้นได้แก้ไขกันต่อ ๆ มาตามภูมิประเทศและกาลสมัยในกรุงกัมพูชา ถึงดังนั้น รูปรอยก็ไม่ไกลกับของไทย