หน้า:ตำนานคณะสงฆ์ - ดำรง - ๒๔๖๖.pdf/10

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

นั้นก็ดี คนที่เปนชาวเมืองต่างประเทศกัน ถึงจะถือสาสนาเดียวกัน ความจริงก็เปนชาวต่างชาติต่างภาษา มีความนิยมแลความคุ้นเคยขนบธรรมเนียมต่างกัน การปกครองสงฆมณฑลที่มาประดิษฐานตามนานาประเทศจำต้องอนุโลมตามแบบแผนประเพณีซึ่งนิยมกันหรือเท่าที่อาจจะเปนได้ในต่างประเทศที่พระพุทธสาสนาไปประดิษฐานนั้น เชื่อได้ว่า เหมือนกันหมดทั้งประเทศสยาม กัมพุช พม่า รามัญ แลสิงหฬทวีป การปกครองคณะสงฆ์จึงต้องเนื่องด้วยราชการแผ่นดิน ตั้งแต่การวางแบบแผนปกครองคณะสงฆ์ ตลอดจนตั้งสงฆนายกให้มีสมณศักดิ์ ให้การฝ่ายพระพุทธจักรแลพระราชอาณาจักรเปนไปโดยสดวกด้วยกัน พระพุทธสาสนาจึงประดิษฐานมั่นคงสืบมาในประเทศนั้น ๆ

สมณศักดิ์ในสยามประเทศที่ได้พบหลักฐานเปนเก่าก่อนที่สุดมีในศิลาจาฤกของพ่อขุนรามคำแหงซึ่งเปนพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ ๓ ในราชวงศ์พระร่วง ครองกรุงสุโขทัยเปนราชธานี จาฤกไว้เมื่อราว พ.ศ. ๑๘๓๕ ว่า ที่พระนครสุโขทัยมีสังฆราช มีปู่ครู มีมหาเถระ แลมีเถระ สังฆราชเห็นจะเปนตำแหน่งสังฆนายกชั้นสูงสุด ตำแหน่งปู่ครูตรงกับที่เราเรียกว่า พระครู ทุกวันนี้ เปนตำแหน่งสังฆนายกรองลงมาจากสังฆราช แต่มหาเถระแลเถระที่กล่าวในศิลาจาฤกนั้นเห็นจะเปนแต่หมายความว่า พระภิกษุซึ่งมีพรรษาอายุแลทรงคุณธรรมในทางพระสาสนาเปนมหาเถระแลเถระตามพระวินัยบัญญัติ มิใช่เปนสมณศักดิ์ที่พระเจ้าแผ่นดินทรงตั้ง