หน้า:ตำนานคณะสงฆ์ - ดำรง - ๒๔๖๖.pdf/19

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๔

ว่าโดยย่อ พระสงฆ์ไทยได้คุ้นเคยสนิทสนมกับพระสงฆ์ลังกา เมื่อแรกรับลัทธิพระสงฆ์ลังกาเข้ามาในครั้งกรุงสุโขทัยแล้วเหินหางเนือยไปเสียคราว ๑ มีพระสงฆ์ไทยพวกนี้ไปรับลัทธิลังกาเข้ามาใหม่อิก จึงเคร่งครัดแขงแรงขึ้นอิกคราว ๑ พระสงฆ์นิกายที่เข้ามาใหม่นี้ พิเคราะห์ตามหลักฐานที่ได้พบในพงศาวดารแลในทำเนียบ ข้าพเจ้าเข้าใจว่า จะเปนพระสงฆ์ซึ่งเรียกว่า คณะป่าแก้ว ทำเนียบในกรุงข้อนี้จะเห็นได้ที่ว่า สมเด็จพระวันรัตน์อยู่วัดป่าแก้ว คือ วัดคณะป่าแก้ว ดังเช่นที่เรียกในทำเนียบสุโขทัยว่า วัดไตรภูมิป่าแก้ว ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่า จะเรียกขึ้นทีหลัง เดิมชื่อ วัดไตรภูมิ ครั้นพวกคณะป่าแก้วไปตั้ง จึงเรียกว่า วัดไตรภูมิคณะป่าแก้ว ความที่กล่าวข้อนี้มีหลักฐานด้วยข้าพเจ้าได้พบหนังสือครั้งกรุงเก่าที่เมืองนครศรีธรรมราช เมืองพัทลุง หลายฉบับ ในบรรดาหนังสือที่มีบาญชีชื่อวัด เขียนชื่อคณะป่าแก้วไว้ท้ายชื่อวัดทุกฉบับ ดังเช่น วัดเขียนคณะป่าแก้ว วัดสะทังคณะป่าแก้ว เปนต้น คำว่า ป่าแก้ว เปนภาษาไทยแปลมาจากคำ วันรัตน ภาษามคธเปนแน่ ไม่มีที่สงสัย ในหนังสือรามัญสมณวงศ์เมื่อกล่าวถึงชื่อพระมหาเถระที่เปนสังฆนายกในลังกา ก็เขียนว่า พระวันรัตนมหาเถระ ทุกแห่ง มิได้เขียนว่า วันรัตะ เรื่องนามพระวันรัตน์ ข้าพเจ้าจะอธิบายต่อไปข้างหน้า ในที่นี้จะลงเนื้อเห็นเปนยุติแต่ว่า เมื่อพระสงฆ์ทางประเทศนี้ออกไปแปลงคราวหลัง จึงไปได้นาม วันรัตน นี้เข้ามาแปลเปนภาษาไทยว่า คณะป่าแก้ว คณะสงฆ์ในกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่มีพวกนิกายป่าแก้วเข้ามา จึงเกิดเปน ๓ คณะ คือ คณะเดิม คงตามแบบแผน