หน้า:ตำนานเมือง - รถ - ๒๔๘๑.pdf/33

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๓๐

เจ้าสุระอุทกจมน้ำตาย เจ้าปิงคละและเจ้าคำแดงหนีไปพักอยู่ทางทิศใต้หนองหาน เที่ยวตรวจหาที่สร้างเมืองใหม่ พบทำเลดีที่คูน้ำรอดธาตุเชิงชุม จึงสร้างเมืองลงในที่นั้น ตั้งชื่อว่า เมืองหนองหาน ตามเดิม แล้วทำพิธีภิเษกเป็นเจ้าเมือง มีนามว่า สุวรรณปิงคละ มีมเหสีชื่อ นางนารายเจงเวง พระยาสุวรรณปิงคละได้สร้างพระเจดีย์สวมรอยพระพุทธบาท ๔ รอยลงไว้ที่คูน้ำรอดธาตุเชิงชุม นางนารายเจงเวงได้สร้างพระธาตุนาเวงไว้ที่สวนนอกเมือง เมื่อพระยาสุวรรณปิงคละสิ้นชีพไปแล้ว ก็มีผู้ปกครองสืบมา จนถึงสมัยหนึ่ง ฝนแล้งไป ๗ ปี ชาวบ้านอดอยาก พากันอพยพไปอยู่เขมร เมืองหนองหานร้างอยู่ช้านาน จนชาวบ้านที่อยู่ในเมืองนั้นไม่เรียกว่า เมือง เรียกกันแต่ว่า บ้านธาตุเชิงชุม

จังหวัดสกลนครนี้ ถ้าดูตามวัตถุพะยานแห่งโบราณสถานที่มีอยู่ จะเห็นได้ว่า เป็นเมืองโบราณซึ่งพวกขอมได้สร้างขึ้นสำหรับปกครองท้องที่ในแผ่นดินสูงตอนเหนือแห่ง ๑ ในสมัยเมื่อขอมเป็นใหญ่อยู่ในแผ่นดินนี้ แต่ชะรอยจะได้สร้างไปเสียนานอย่างที่กล่าวไว้ในนิยาย เพิ่งจะมาตั้งขึ้นใหม่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทรนี้ เปลี่ยนชื่อเป็น สกลทวาปี แล้วเปลี่ยนอีกครั้ง ๑ เป็น เมืองสกลนคร ในรัชชกาลที่ ๓ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๑ หลังจากการปราบกบฏเวียงจันทรแล้ว