หน้า:ทำศพ - ทองสุก อินทรรัสมี - ๒๔๗๗.pdf/39

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๓๑

ว่า ทุกขํ ในที่สุด ถึงความสลายไป คือ แตกทำลายตายจากภพนี้ จะเอาอะไรเป็นสาระหาได้ไม่ ชื่อว่า อนตฺตา การเวียนสามรอบนั้น คือ หมายถึง ทุกขํ อนิจจํ อนตฺตา ฉะนี้

ผู้ที่เดินตามศพนั้น แสดงว่า เป็นเจ้าของศพ และทำเป็นผู้เคารพในศพนั้นด้วย

การนำเบี้ยทิ้งลงที่เชิงตะกอนนั้น แปลว่า เป็นการซื้อที่ให้ผีผู้ตายอยู่ มีเรื่องเล่ากันมาว่า เจ้าภาพงานศพไม่ได้ซื้อที่ให้ผีอยู่ในเวลาเผา เมื่อเผาแล้ว ผีไม่มีที่อยู่ ก็เที่ยวรบกวนหลอกหลอนต่าง ๆ ภายหลัง เจ้าภาพได้ซื้อที่ให้ผีแล้ว จึงไม่เที่ยวหลอกหลอนต่อไปอีก

การที่เอาน้ำมะพร้าวล้างหน้าศพนั้น เป็นปัญหาธรรมว่า สิ่งสะอาดย่อมล้างสิ่งโสโครก คือ กุศลธรรมย่อมล้างเสียซึ่งอกุศลธรรม ฉะนี้

การห้ามไม่ให้ต่อไฟกันนั้น ท่านอธิบายว่า ไฟนั้นเป็นของร้อน ถ้าต่อกันก็ติดเนือง ๆ สืบกันไป เหมือนคนผูกเวร เวรย่อมไม่สิ้นสุดลงได้ การที่ท่านไม่ให้ต่อ ก็คือ จะชี้ทางแห่งการระงับเวร การเอาผ้าโยนข้ามไฟ ๓ ครั้ง คือ แสดงถึงการข้ามของร้อน มีราคะ โทสะ โมหะ เป็นมูล