หน้า:นิทานโบราณคดี - ดำรงราชานุภาพ - ๒๔๘๗.pdf/65

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
50

ท่าดัดตนไห้หายเมื่อยหรือ เขาตอบว่า ไม่ไช่ แล้วบอกอธิบายต่อไปว่า รูปเหล่านั้นเปนแบบท่าต่าง ๆ ที่พวกดาบสบำเพ็นตะบะเพื่อบันลุโมขธัม ฉันได้ฟังก็นึกละอายไจไม่พอที่จะไปอวดรู้ต่อเขาผู้เปนเจ้าของตำราเรื่องรือสีชีพราหมน์ แต่ก็เกิดหยากรู้แต่นั้นมาว่า เหตุไฉนรูปรือสีดัดตนที่เขาทำไนเมืองไทยจึงไปพ้องกับท่าดาบสบำเพ็นตะบะของชาวอินเดีย เมื่อกลับมาจึงค้นหาตำรารือสีดัดตน พบอธิบายปรากตไนศิลาจารึกเรื่องส้างวัดพระเชตุพนฯ ว่า พระบาทสมเด็ดพระพุทธยอดฟ้าจุลาโลกโปรดไห้ "ตั้งตำรายาและรือสีดัดตนไว้เปนทาน" ตามสาลารายริมกำแพงวัดพระเชตุพนฯ รูปรือสีดัดตนส้างไนรัชกาลที่ 1 เปนรูปปั้น และคงมีอักสรจารึกศิลาติดไว้ไกล้กับรูปรือสีบอกว่า ดัดตัวท่านั้นแก้โรคหย่างนั้น ครั้นถึงรัชกาลที่ 3 เมื่อปติสังขรน์วัดพระเชตุพนฯ พระบาทสมเด็ดพระนั่งเกล้าเจ้าหยู่หัวโปรดไห้เปลี่ยนรูปรือสีเปนหล่อด้วยดีบุก และโปรดไห้พวกกวีแต่งโคลง 4 ขนานชื่อรือสีและบอกท่าดัดตนแก้โรคหย่างได ๆ จารึกสิลาติดประจำไว้กับรูปภาพตัวละบทหนึ่ง เรียกรวมกันว่า "โคลงรือสีดัดตน" พบตำราว่าด้วยเรื่องรือสีหรือดาบสทำท่าต่าง ๆ มีหยู่ไนเมืองไทยเพียงเท่านั้น จึงเปนปัญหาว่า ท่ารือสีดัดตนต่าง ๆ จะเปนท่าบำเพ็นตะบะของดาบสหย่างเขาว่าที่เมืองชัยบุระ หรือเปนท่าดัดตัวแก้โรคเมื่อยขบหย่างเช่นไทยถือเปนตำรา ฉันไม่รู้ว่าจะเปนหย่างไหนแน่มาช้านาน จนเมื่อออกมาหยู่เมืองปีนัง มีดาบสชาวอินเดียคนหนึ่งซึ่งขึ้นชื่อลือเลื่องว่าเคร่งครัดนักมาบำเพ็นตะบะนะ