หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๑๕) - ๒๔๖๒.pdf/16

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

แลนางเลือดขาวกับพระยากุมารสามีเปนผู้มีใจศรัทธาได้สร้างวัดหลายตำบล ด้วยเปนผู้มีกำลังที่ได้รับมรฎกจากตายายเปนนายกองส่วยช้างมีผู้คนนับถือมาก มีเหตุผลควรเชื่อว่าจริง คือ วัดที่นางกับสามีได้สร้างไว้ยังเปนหลักถานปรากฎอยู่จนทุกวันนี้ เช่น วัดพระพุทธสิหิงค์ที่เมืองตรัง ๑ วัดเขียนที่บางแก้วเมืองพัทลุง ๑ วัดสทังใหญ่ที่ตำบลสทังเมืองพัทลุง ๑ เปนต้น แต่เรื่องนางเลือดขาวนี้จะได้เขียนเปนลายลักษณ์อักษรไว้แต่เดิมแล้วหรืออย่างไร ทางสันนิษฐานไม่แน่ แต่อย่างไรก็ดี คงได้คัดเขียนกันครั้งพระครูอินทโมฬีคณะป่าแก้วที่ได้ปฏิสังขรณ์วัดสทังแลวัดเขียนบางแก้วนั้นเปนแน่ จึงได้มีตำนานเปนลายลักษณ์อักษรเรื่องนางเลือดขาวสืบมาจนทุกวันนี้

เมื่อเห็นเปนมูลความจริงอยู่บ้างดังนี้ จึงได้เขียนไว้ในพงษาวดารตามลำดับ ด้วยเห็นว่า นางกับสามีเปนผู้มีอัทยาศรัยควรชมในทางทำประโยชน์ไว้สำหรับบ้านเมืองตามความนิยมของสมัยนั้น คือ สร้างวัดอันเปนที่เล่าเรียนของกุลบุตรสืบมา ประการหนึ่ง เปนเรื่องที่กล่าวถึงภูมิพื้นเมืองพัทลุงว่า สมัยครั้งกรุงศุโขทัยนั้น เมืองพัทลุงได้ตั้งเปนบ้านเปนเมืองอยู่ที่สทิงพระแล้ว จึงเห็นว่า ควรเขียนไว้ในพงษาวดารระหว่างนี้เนื้อความขาดตอนแต่ไม่ใช่เมืองร้าง คือ เมื่อ พ.ศ. ๑๙๒๗ (จ.ศ. ๗๔๖) ปีชวด ฉอศก ในแผ่นดินสมเด็จพระราเมศวรครั้งกรุงศรีอยุทธยาโบราณ ได้ส่งลาวเชลยเชียงใหม่มาไว้ที่เมืองพัทลุง)