หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๑๕) - ๒๔๖๒.pdf/67

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๕๖

รั้วญา อนึ่ง เหมืองชักน้ำนั้น ถ้าเห็นว่าที่ใดตำบลใดมีประโยชน์แก่การทำนาทำสวน ก็จัดแจงตกแต่งหรือขุดใหม่ก็ลงมือทำทีเดียว เปนดังนี้เสมอมา เจ้าเมืองกรมการก็เอาใจใส่เปนธุระมาก แม้นายตำบลเพิกเฉยหรือราษฎรชาวนาขัดขืน ก็ลงโทษตามควร

ภูมิพื้นเมืองพัทลุงชอบการเพาะปลูกทำเรือกสวนไร่นา จึงนิยมการทำนาว่าเปนกำลังของบ้านเมือง ด้วยมีทางน้ำไหลลงมาจากภูเขาบรรทัดซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตวันตกของเมือง เปนภูเขาเทือกขึงยาว เนื่องมาแต่ภูเขา ๓๐๐ ยอด ยาวไปทางทิศใต้ตามเส้นสูนย์กลางของแหลมมลายูจนตลอดนั้น เปนที่เกิดลำน้ำไหลลงไปสู่ทะเลสาปฝ่ายทิศตวันออกของเมืองเปนหลายลำคลอง ๆ เหล่านี้ เมื่อต้องการน้ำขึ้นนาเมื่อใด ก็ลงปิดทำนบก็ได้น้ำตามต้องการ จนเปนประเพณีต่อมาช้านาน ครั้นมาทุกวันนี้ ประเพณีนั้นก็สาปสูญไป

ราษฎรพลเมืองทุกคน เว้นแต่ข้าพระโยมสงฆ์ที่ทรงพระราชอุทิศไว้สำหรับวัด ต้องเปนเลขส่วยต่าง ๆ เลขส่วยเหล่านี้มีอายุกำหนด ๑๘ ปีเปนฉกรรจ์ ถึง ๗๐ ปีชรา เปนหน้าที่สัสดีออกหนังสือคู่มือสำหรับชราให้พ้นจากการเกณฑ์ส่วย แลพวกเลขส่วยเหล่านี้ในเวลาปรกติไม่มีการศึกสงครามก็ต้องถูกเกณฑ์สิ่งของต่าง ๆ ตามหมู่ตามเหล่า มีกระสุนดินดำเปนต้น เปนของหลวงไว้สำหรับบ้านเมืองบ้าง ส่งกรุงเทพฯ บ้าง นายหมวดนายกองผู้ควบคุมเกณฑ์เอาตัวไปใช้การงานต่าง ๆ บ้าง เอาสิ่งของต่าง ๆ บ้าง ทุกปีมิได้ขาด