หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๕๕) - ๒๔๗๓.pdf/11

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

รัฐบาลไทยได้ผลประโยชน์จากการค้าขายกับต่างประเทศในการ ๕ อย่าง คือ—

๑.ภาษีเบิกร่อง หรือค่าปากเรือ

๒.ภาษีสินค้าขาเข้า

๓.ภาษีสินค้าขาออก

๔.กำไรได้จากคลังสินค้าของหลวง

๕.อำนาจเลือกซื้อของหลวงสำหรับใช้ราชการ

อย่างที่ ๑ ที่เรียกค่าเบิกร่องนั้น เป็นค่าอนุญาตให้เรือเข้ามาค้าขาย เก็บภาษีนี้มากน้อยตามขนาดเรือ ตามความที่ปรากฏในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่าว่า อัตราภาษีค่าปากเรือครั้งกรุงเก่า เรือปากกว้างแต่ ๔ วาขึ้นไป ถ้าเป็นเรือเมืองไมตรีที่ไปมาค้าขายอยู่เสมอ เก็บค่าปากเรือเที่ยวหนึ่งตามขนาดปากเรือกว้างวาละ ๑๒ บาท ถ้าเป็นเรือที่นานไปนานมาไมคุ้นเคยกัน เก็บวาละ ๒๐ บาท ได้ความตามใบบอกของครอเฟิดว่า เมื่อครั้งรัชชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทร เรือสามเสาเก็บค่าปากเรือวาละ ๘๐ บาท เรือสองเสาครึ่งวาละ ๔๐ บาท

อย่างที่ ๒ เก็บภาษีสินค้าขาเข้านั้น อัตราเก็บครั้งกรุงเก่าปรากฏว่า เรือที่ไปมาเสมอ เก็บร้อยชัก ๓ เรือที่นานไปนานมาเก็บร้อยชัก ๕ ครั้งรัชชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทรเก็บร้อยชัก ๘

อย่างที่ ๓ คือ ภาษีสินค้าขาออกนั้น ครั้งกรุงเก่าจะเก็บเท่าไรยังค้นอัตราไม่พบ แม้ในกรุงรัตนโกสินทรเมื่อรัชชกาลที่ ๒ ก็ยังไม่พบ