หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๕๕) - ๒๔๗๓.pdf/12

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

อัตรา ได้ความแต่ว่าเก็บเป็นอย่าง ๆ ตามสินค้า เป็นต้นว่า น้ำตาลทราย เก็บภาษีขาออกหาบละ ๕๐ สตางค์

อย่างที่ ๔ ที่เรียกว่ากำไรคลังสินค้านั้น คือ ตั้งคลังสินค้าเป็นของหลวง และมีหมายประกาศบังคับว่า สินค้าบางอย่างค้าขายได้แต่เป็นของหลวง ราษฎรผู้เสาะหาได้สินค้านั้น ๆ ต้องนำมาขายให้พระคลังสินค้าแห่งเดียว จะไปขายให้ผู้อื่นไม่ได้ ส่วนผู้ค้าขายไปต่างประเทศ ก็ต้องมารับซื้อสินค้านั้น ๆ จากพระคลังสินค้าไปจำหน่ายต่างประเทศ จึงเกิดกำไรแก่พระคลังสินค้า การตั้งพระคลังสินค้านี้ได้ความในหนังสือเรื่องอังกฤษสมาคมกับไทยที่หมอยอนแอนเดอสันแต่งว่า แรกมีขึ้นเมื่อแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง แต่ข้าพเจ้าได้พบในหนังสือที่แอนเวอล์แต่งว่าด้วยโปรตุเกตออกมาค้าขายทางประเทศตะวันออกว่า เป็นประเพณีที่พวกเจ้าเมืองแขกในอินเดียทำมาก่อนนั้นช้านาน จึงเข้าใจว่า เรื่องตั้งคลังสินค้านี้ไทยจะได้แบบมาจากแขก สินค้าพระคลังสินค้านั้น ปรากฏในหนังสือที่หมอยอนแอนเดอสันแต่งว่า เมื่อครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สินค้าเหล่านี้ที่ค้าขายได้แต่พระคลังสินค้า คือ

๑.เนื้อไม้

๒.หมากสง

๓.ดีบุก

๔.ฝาง

๕.ดินประสิว

๖.ตะกั่ว