หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๕๕) - ๒๔๗๓.pdf/6

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

ในรัชชกาลที่ ๒ นั้น ผู้สำเร็จราชการอินเดียของอังกฤษได้แต่งพ่อค้าให้เข้ามาสืบการงานถึงกรุงเทพฯ ได้ความออกไปว่า เมื่อใน ๒–๓ปีมานี้ มีเรือฝรั่งชาติอเมริกันบ้าง โปรตุเกตบ้าง อังกฤษบ้าง เข้ามาค้าขายถึงกรุงเทพฯ ไทยก็ยอมให้ค้าขายไม่รังเกียจ ด้วยไทยกำลังต้องการเครื่องศัสตราวุธที่จะทำศึกกับพะม่า อยากให้มีพ่อค้าบรรทุกปืนเข้ามาขาย เห็นเป็นช่องที่จะมาทำไมตรีให้มีการค้าขายเจริญขึ้นอีกได้ แต่อังกฤษมีความรังเกียจอยู่ด้วยเรื่องวิธีเก็บภาษีอากร ทั้งวิธีของไทยและของญวน ส่วนวิธีไทยนั้น ยกความข้อรังเกียจที่มีเจ้าพนักงานลงไปตรวจเลือกซื้อสิ่งของที่ต้องพระราชประสงค์ หรือต้องการใช้ในราชการ ไม่ยอมให้ขายแก่ผู้อื่นนี้ข้อ ๑ และรังเกียจที่มีวิธีการค้าขายสินค้าบางอย่างเป็นของหลวง ห้ามมิให้ผู้อื่นขายสินค้านั้น ๆ อย่างหนึ่ง และห้ามสินค้าบางอย่าง มีเข้าเปลือกเข้าสารเป็นต้น ไม่ให้บรรทุกออกจากเมืองทีเดียวอีกอย่าง ๑ อังกฤษจึงแต่งให้ครอเฟิดเป็นทูตเข้ามาให้พูดจากับไทยโดยทางไมตรี เพื่อประสงค์จะขอให้ยกเลิกหรือลดหย่อนวิธีอันเป็นที่รังเกียจดังกล่าวมา ซึ่งอังกฤษถือว่าเป็นการลำบากและรำคาญแก่คนค้าขาย จะขอให้คนในบังคับอังกฤษไปมาค้าขายโดยสะดวก และให้ค้าขายกับไพร่บ้านพลเมืองได้ทั่วไป ส่วนผลประโยชน์ของรัฐบาลไทยที่เคยได้จากวิธีค้าขายอย่างแต่ก่อน ถ้าจะตกต่ำไปเพราะการงดลดเลิกวิธีที่กล่าวนั้น อังกฤษจะยอมให้ขึ้นอัตราคาค่าปากเรือทดแทน ขอให้เรียกรวมแต่เป็นอย่างเดียว นี้เป็นความประสงค์ที่อังกฤษแต่งทูตเข้ามาอย่าง ๑ อีกอย่าง ๑ จะให้ทูตเข้ามาพูดเรื่องเมืองไทรบุรีด้วย เมื่ออังกฤษเช่าที่เกาะหมากจากพระยาไทร ๆ บอกแก่อังกฤษว่า เมืองไทร