หน้า:ประมวลคำอธิบายทางนิติศาสตร์ - ดำรง - ๒๔๗๗.pdf/18

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๑

ชั้นที่เพื่อจะจัดระเบียบกฎหมายเก่าให้สะดวกแก่สุภาตุลาการให้ค้นได้โดยง่าย นาน ๆ จึงมีการชำระกฎหมายครั้ง ๑ อย่างเราเรียกทุกวันนี้ว่า ทำประมวลกฎหมาย คือ รวบรวมกฎหมายเก่าจัดเป็นหมวด ๆ ตามลักษณะความ ตัดเหตุผลวันคืนที่ตั้งกฎหมายออกเสีย คงไว้แต่ใจความซึ่งเป็นพระราชนิยม เรียงเข้าลำดับเป็นมาตรา ๆ ในลักษณะนั้น ๆ.

วิธีชำระกฎหมายดังกล่าวมานี้สำหรับทำแต่กฎหมายเก่าที่ตั้งมานาน ๆ แล้ว แต่กฎหมายที่ออกใหม่ก็ยังคงออกอย่างพระราชกฤษฎีกาตามเดิม ทำอย่างนี้เป็นวิธีมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ในครั้งหลังที่สุด การชำระกฎหมายได้ทำเมื่อปีชวด ฉศก จุลศักราช ๑๑๖๖ พ.ศ. ๒๓๔๗ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เวลานั้น หนังสือกฎหมายครั้งกรุงเก่าคงจะเป็นอันตรายหายสูญไปเสียเมื่อเสียกรุงเป็นอันมาก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงรวบรวมค้นหาได้เท่าใด ก็เอามาเรียบเรียงตรวจแก้ตัดทอดทำเป็นกฎหมายฉะบับหลวงขึ้นใหม่ คือ ฉะบับพิมพ์เป็น ๒ เล่มนั้น มีกฎหมายชั้นกรุงรัตนโกสินทรอยู่ในนั้น ๔ ลักษณะ คือ (๑) พระราชบัญญัติ (๒) กฎหมายพระสงฆ์ (๓) พระราชกำหนดใหม่ ๓ ลักษณะนี้ตั้งในรัชกาลที่ ๑ กับ (๔) ลักษณะโจร ๕ เส้น ตั้งในรัชกาลที่ ๓ รวมเข้าเมื่อพิมพ์ ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ กฎหมาย ๒ เล่มพิมพ์นั้น เชื่อ