หน้า:ประมวลคำอธิบายทางนิติศาสตร์ - ดำรง - ๒๔๗๗.pdf/19

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๒

ได้ว่า คงตามรูปกฎหมายครั้งกรุงเก่า แลเป็นบทกฎหมายที่ใช้อยู่ในครั้งกรุงเก่าเป็นอันมาก จะเห็นได้ว่า กฎหมายตอนปลายกรุงเก่าที่ได้ตัดความเมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษ แต่ยังไม่ทันแยกเข้าลักษณะตามประมวลก็มี คือ กฎหมาย ๓๖ ข้อ แลมีกฎหมายที่ยังเป็นพระราชกฤษฎีกายังไม่ได้ตัดความทีเดียวอยู่ในพระราชกำหนดเก่าก็อีกหลายสิบบท.


ลักษณจัดหมวดประมวลกฎหมายครั้งกรุงเก่า อย่างเห็นในกฎหมายฉะบับพิมพ์ ๒ เล่ม พิเคราะห์ดูตามรูปกฎหมายและเนื้อความที่ปรากฏในหมวดพระธรรมศาสตร ทำให้เข้าใจว่า แต่เดิม ประมวลกฎหมายไทยเห็นจะจัดเป็นหมวดหมู่อย่างหนึ่ง แต่จะเป็นอย่างไรรู้ไม่ได้ชัด อยู่มาในกาลครั้ง ๑ น่าจะเป็นในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช เมื่อกรุงศรีอยุธยายังเกี่ยวข้องกับกรุงหงสาวดีอยู่ ได้กฎหมายมนูธรรมศาสตรซึ่งแปลเป็นภาษารามัญเข้ามาในเมืองไทย แลมีผู้มาแปลมนูธรรมศาสตรจากภาษารามัญออกเป็นภาษาไทย แต่จะแปลเมื่อใด ข้อนี้ถ้าจะคาดตามเรื่องในพระราชพงศาวดาร ก็น่ายุติว่า คงจะแปลในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชนั้นเอง หรือมิฉะนั้น ก็ในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรฐ เพราะในแผ่นดิน