หน้า:ประมวลคำอธิบายทางนิติศาสตร์ - ดำรง - ๒๔๗๗.pdf/8

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
ประมวลคำอธิบายทางนิติศาสตร
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ทรงพระนิพนธ์


ประเพณีประกาศพระราชกฤษฎีกาแต่โบราณ เมื่อสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินดำรัสสั่งให้ประกาศกิจการอันใด คือ เช่น ตั้งพระราชบัญญัติ เป็นต้น โดยปกติมักดำรัสสั่งให้อาลักษณ์เป็นพนักงานเรียบเรียงข้อความที่จะประกาศลงเป็นหนังสือ บางทีดำรัสให้ผู้อื่นรับพระราชโองการมาสั่งอาลักษณ์ให้เรียบเรียงประกาศก็มี ผู้รับสั่งมักเป็นเจ้าหน้าที่ซึ่งจะต้องอำนวยการที่ประกาศ แต่ที่มิใช่เป็นเจ้าหน้าที่ เป็นแต่ข้าเฝ้าคนใดคนหนึ่ง ดำรัสใช้ตามสดวกพระราชหฤทัยก็มี ลักษณะที่อาลักษณ์เรียบเรียงประกาศนั้น ตั้งข้อความเป็นหลัก ๕ อย่าง คือ (๑) วันเดือนปีที่สั่ง (๒) นามผู้สั่ง ถ้าสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินดำรัสเอง ก็อ้างแต่ว่า มีพระราชโองการ ถ้ามีผู้อื่นมาสั่ง ก็อ้างนามผู้นั้นรับพระราชโองการ (๓) กล่าวถึงคดีอันเป็นมูลเหตุแห่งประกาศนั้น (๔) พระราชวินิจฉัย (๕) ข้อบัญญัติพระราชนิยมที่ให้ประกาศ