หน้า:ประมวลคำอธิบายทางนิติศาสตร์ - ดำรง - ๒๔๗๗.pdf/9

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

เมื่ออาลักษณ์ร่างเสร็จแล้ว คงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายทรงตรวจแก้ก่อน จึงประกาศ แต่ข้อนี้หาได้กล่าวไว้ให้ปรากฎไม่ ลักษณะที่ประกาศนั้น แต่โบราณเป็นหน้าที่กรมพระสุรัสวดีโดยเป็นผู้ถือบาญชีกระทรวงทบวงการทั้งปวง ที่จะคัดสำเนาประกาศแจกจ่ายไปยังกรมต่าง ๆ ทุกกรม ส่วนหัวเมืองทั้งปวงนั้น เมื่อมหาดไทย กลาโหม กรมท่า อันเป็นเจ้ากระทรวงบังคับบัญชาหัวเมือง ได้รับประกาศจากกรมพระสุรัสวดี ก็คัดสำเนาส่งไปยังหัวเมืองอันขึ้นอยู่ในกรมนั้น ๆ อิกชั้น ๑ ลักษณการที่จะประกาศให้ราษฎรทราบพระราชกฤษฎีกานั้น ประเพณีเดิมในกรุงเทพฯ กรมเมืองให้นายอำเภอเป็นเจ้าพนักงานไปเที่ยวอ่านประกาศตามตำบลที่ประชุมชน ส่วนหัวเมืองทั้งปวง เจ้าเมือง กรมการ ให้กำนันเป็นพนักงานอ่านประกาศ เมื่อพนักงานจะอ่านประกาศที่ตำบลไหน ให้ตีฆ้องเป็นสัญญาเรียกราษฎรมาประชุมกัน แล้วอ่านประกาศให้ฟังณที่นั้น วิธีประกาศเช่นว่ามานี้จึงเรียกกันเป็นสามัญว่า "ตีฆ้องร้องป่าว" ส่วนต้นฉะบับประกาศพระราชกฤษฎีกาทั้งปวงนั้น อาลักษณ์รักษาไว้ในหอหลวงฉะบับ ๑ คัดส่งไปรักษาไว้ที่ศาลาลูกขุนอันเป็นที่ประชุมเสนาบดีฉะบับ ๑ และส่งไปรักษาไว้ที่ศาลหลวงอันเป็นที่ประชุมผู้พิพากษาด้วยอิกฉะบับ ๑ ประเพณีเดิมมีลักษณะดังว่ามานี้

หนังสือประกาศชั้นเดิม ต้นร่างและสำเนามักเขียนใน