หน้า:ประวัติฯ ศรีสุริยวงศฯ - ดำรง - ๒๔๗๒.pdf/29

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๒๒

ภาษีมีพิกัดตามจำนวน (คือ ร้อยละเท่านั้นเท่านี้ในจำนวนสินค้า) และจำกัดอัตราภาษีศุลกากร เช่น เรียกภาษีสินค้าเข้าตามราคาได้แต่เพียงร้อยละ ๓ เป็นต้น เมื่อเสึยภาษีตามหนังสือสัญญาแล้ว ไทยต้องยอมให้คนในบังคับอังกฤษซื้อขายได้ตามใจ เว้นแต่สินค้าต้องห้ามบางอย่าง มีฝิ่นและเครื่องอาวุธปืนไฟเป็นต้น ฝ่ายข้างไทยในเวลานั้น ความเห็นก็เห็นจะร่วมกันหมดในข้อที่ว่า ต้องยอมทำหนังสือสัญญาใหม่กับอังกฤษ จะปฏิเสธอย่างครั้งเซอเชมสบรุกไม่ได้ ข้อสัญญาว่าด้วยการอย่างอื่น เช่น อำนาจของกงสุลก็ดี หรือสิทธิของคนในบังคับอังกฤษก็ดี ดูไม่ปรากฏความรังเกียจเพียงใดนัก ความขัดข้องโต้แย้งของท่านผู้ใหญ่ คือ สมเด็จเจ้าพระยาทั้ง ๒ องค์เป็นสำคัญ อยู่ในข้ออื่น คือ เรื่องเลิกภาษีผูกขาดเป็นต้น อ้างว่า เคยเป็นประเพณีบ้านเมืองมาช้านาน ถ้าเลิกผูกขาดภาษีเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น เงินผลประโยชน์สำหรับจ่ายใช้ราชการแผ่นดินก็จะตกต่ำถึงฝืดเคือง อีกประการหนึ่ง (ข้อนี้ คิดดูในเวลานี้ก็ชอบกล) เห็นว่า การทำนาในเมืองไทยได้เข้าก็พอแต่จะเลี้ยงไพร่บ้านพลเมืองมิให้อัตคัด ถ้าให้ชาวต่างประเทศมาซื้อเข้าเอาไปจากบ้านเมืองตามชอบใจ ก็จะเป็นเหตุให้ราษฎรในพื้นเมืองอดอยาก อีกประการหนึ่ง ถ้าทำหนังสือสัญญาอย่างนั้นแล้ว ฝรั่งเข้ามาค้าขายมากขึ้น ก็จะมาค้าขายแข่งคนในพื้นเมือง ทำให้พวกพ่อค้าตลอดจนผู้มีบรรดาศักดิ์ซึ่งเคยอาศัยเลี้ยงชีพในการค้าขายพากันย่อยยับ เพราะฝรั่งมีทุนมากกว่า การโต้แย้งขัดขวางในข้อเหล่านี้เป็นเหตุให้การปรึกษาติดขัดในชั้นแรก จนถึงเซอจอนเบาริงเตรียมตัวจะกลับไป ว่าจะไปปรึกษากับราชทูตฝรั่งเศส ราชทูตอเมริกัน ที่เมืองจีน กับทั้งแม่ทัพ