หน้า:ประวัติ - ปิติ วาทยะกร - ๒๕๑๒.pdf/111

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

ประธานกล่าวว่า เรื่องดุริยางค์สากล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะให้มีสมรรถภาพและคุณภาพดีกว่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้ และท่านนายกรัฐมนตรีก็มีความประสงค์เช่นนั้น และใคร่จะให้ตั้งโรงเรียนเป็นเอกเทศโดยเฉพาะ แต่การตั้งเป็นเอกเทศ รู้สึกว่า ไม่สะดวกต่อการบังคับบัญชา และไม่มีวิทยะฐานะ เพราะเรียนแต่ทางดนตรีอย่างเดียว ไม่ได้เรียนวิชาสามัญ จึงให้คงเปิดเรียนในโรงเรียนนาฏศิลปตามที่ตกลงกันไว้แล้ว วิชาสามัญคงมีสอนไปตามหลักสูตร ส่วนวิชาศิลป ขอให้เรียนแต่วิชาดุริยางค์สากลโดยเฉพาะอย่างเดียว และขอให้หัว กกส. รับไปพิจารณาวางหลักสูตร นอกจากนั้น ขอให้เปิดสอนศิลปชั้นสูงขึ้น เพื่อนักเรียนจะได้รับการยกเว้นการเกณฑ์ทหารต่อไป หัวหน้า กกส. รับทราบ . . . . . . . . . .

ขอให้สังเกตุด้วยว่า ในฐานะที่ข้าพเจ้าได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์การดนตรีมหาวิทยาลัยศิลปากร และได้ถูกเรียกตัวเข้ามาให้ช่วยเหลือการปรับปรุงกิจการของวงดุริยางค์สากลศิลปากรในฐานะเป็นผู้เชี่ยวชาญการดนตรีตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นต้นมา แต่ก็มิได้ถูกเชิญตัวให้เข้ามาร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วยนั้น เป็นการสมควรหรือไม่ประการใด ขอให้ท่านผู้อ่านโปรดพิจารณาและวินิจฉัยดูด้วย ครั้นต่อมาอีก ๑๐ เดือน ข้าพเจ้าได้รอคอยดูการคลี่คลายของการปรับปรุงตามวิธีของที่ประชุมนี้กำหนดไว้ เห็นแล้วก็หมดศรัทธาและสิ้นหวังที่จะทำให้ดุริยางค์วงนี้ฟื้นตัวขึ้นมาได้ ข้าพเจ้าจึงจำเป็นต้องลาออกจากราชการของกรมศิลปากรตั้งแต่วันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๗ เป็นต้นมา.

กรุงเทพฯ วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๗
– 109 –