หน้า:ประวัติ - ปิติ วาทยะกร - ๒๕๑๒.pdf/40

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้ตรวจสอบแล้ว

อาศัยล่ามเป็นผู้อธิบายความประสงค์อยู่เสมอ เพราะท่านผู้นี้พูดภาษาไทยไม่ได้ และนักดนตรีก็พูดภาษาฝรั่งไม่ได้เช่นกัน การสอนจึงดำเนินไปด้วยความขลุกขลักตลอด

พ.ศ. ๒๔๕๖

เวลาต่อมา ครูผู้นี้ได้ลาออกไปในราวปี พ.ศ. ๒๔๕๖ (ค.ศ. ๑๙๑๓) กองแตรวงกองทัพบกได้ว่าจ้างชาวอิตาเลียนผู้หนึ่งเข้ามารับราชการเป็นอาจารย์แตรวงแทนบิดาข้าพเจ้าซึ่งได้ถึงแก่กรรมไปแล้วเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๒ (ค.ศ. ๑๙๐๙) อาจารย์ผู้นี้ข้าพเจ้ารู้จักดีและคุ้นเคยกันมาก แม้ในเวลานั้น ข้าพเจ้ายังรับราชการอยู่ในกรมรถไฟก็ตาม ท่านผู้นี้มีนิสสัยอ่อนโยน, อารีอารอบดี มีวิชาความรู้สูง มีความชำนาญและความสามารถยิ่งในการปรับปรุงบทเพลงให้วงแตร เพราะเมื่อได้เข้ามารับหน้าที่ในไม่กี่ปี ก็สามารถนำแตรวงของกองทัพบกออกแสดง Concert ด้วยบทเพลงในชั้นวิจิตรศิลปภายในบริเวณกระทรวงกลาโหมหลายครั้ง เป็นที่พอใจของผู้ฟังซึ่งส่วนมากเป็นชาวต่างประเทศ ส่วนวงเครื่องสายฝรั่งหลวงของกรมมหรศพนั้นเล่า ก็ยังไม่สามารถทำอะไรได้เลย ทางกรมมหรศพจึงได้ขอร้องให้อาจารย์ผู้นี้มาช่วยดำเนินการสอน และให้สั่งซื้อเครื่องดนตรีมาครบชุด เป็นวงดุริยางค์แบบมัธย (Medium Orchestra) ในเมื่อเครื่องดนตรีเหล่านี้ได้รับมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อาจารย์ผู้นี้ได้เริ่มทำการสอน แต่ก็ยังคงอาศัยนักดนตรีของวงปี่พาทย์เช่นเดิม ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่า ทางการมิได้ดำริจะผลิตเด็กให้เป็นนักดนตรีขึ้นมาใหม่ ถึงอย่างไรก็ตาม อาจารย์ผู้นี้ได้ปรับปรุงกิจการต่าง ๆ ด้วยความมานะและความพากเพียรอย่างยิ่งยวดตลอดมา และได้เรียบ

– 38 –