หน้า:ประวัติ - ปิติ วาทยะกร - ๒๕๑๒.pdf/43

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

เกรงไปว่า หากข้าพเจ้ารับหน้าที่นี้แล้ว ข้าพเจ้าไม่อาจประจำอยู่ได้นาน ไม่เหมือนการทำราชการอยู่ในกรมรถไฟหลวงที่แน่นอนกว่า แต่ต่อเมื่อข้าพเจ้าได้รับคำชี้แจงจากผู้มาทาบทามนั้นว่า เป็นพระราชประสงค์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่จะให้ข้าพเจ้าย้ายมา ข้าพเจ้าไม่มีหนทางที่จะปฏิเสธได้ จึงจำใจต้องลาออกจากราชการกรมรถไฟหลวงเมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ มารับราชการทางกรมมหรศพตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน คือ ในวันรุ่งขึ้น

ต่อมาเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ ได้สุดสิ้นลงแล้ว อาจารย์ดนตรีชาวอิตาเลียนของกองแตรวงกองทัพบกกลับเข้ามารับราชการตามเดิม ในคราวที่กลับมาครั้งนี้ ราว พ.ศ. ๒๔๖๑ (ค.ศ. ๑๙๒๐) ท่านได้เริ่มทำการปรับปรุงวงดุริยางค์ขึ้นวงหนึ่งที่กรมทหารม้า เรียกว่า “วงดุริยางค์ทหารม้ารวม” ท่านได้พยายามฝึกสอนนักดนตรีอย่างขมักเขม้น ถึงกับได้นำวงดุริยางค์นี้ออกประกอบการแสดง Opera ที่สวนมิสกวัน, Opera ที่แสดงนี้ คือ เรื่อง “Cavelleria Rusticana” ของ Mascagni ซึ่งเปิดการแสดงขึ้นโดยอาศัยตัวละครแต่ชาวต่างประเทศที่สมัครเล่นเข้ามาร่วมการแสดง นับว่า เป็นประวัติการณ์ของประเทศไทยที่มีการแสดง Opera ขึ้นเป็นครั้งแรก สำหรับวงดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงนั้น อาจารย์ชาวอิตาเลียนนี้ได้ใช้วงดุริยางค์ทหารม้ารวมมาสมทบกันกับนักดนตรีของวงดนตรีฝรั่งหลวง กรมมหรศพ ซึ่งยังผลให้เห็นได้ว่า นับแต่ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ มา เมื่อข้าพเจ้ามีโอกาสเข้าควบคุมวงดนตรีฝรั่งหลวงเพียง ๒ หรือ ๓ ปีเท่านั้น ก็สามารถผลิตนักดนตรีขึ้นมาได้ทันความต้องการของอาจารย์ผู้นี้ การฝึกซ้อม Opera เรื่องที่ได้กล่าวนั้นใช้เวลาทำการฝึกซ้อมประมาณเวลา ๑ ปี ส่วน

– 41 –