หน้า:ประวัติ - ปิติ วาทยะกร - ๒๕๑๒.pdf/5

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้ตรวจสอบแล้ว

เห็นว่า ความรู้ภาษาอังกฤษของข้าพเจ้าใช้ไม่ได้เลย จึงตัดสินลดชั้นให้ข้าพเจ้าไปเรียนห้อง ๒ A ซึ่งมีครูคาร์โลส เดอ เยซูส์ เป็นครูประจำชั้น) เวลานั้น พอดีกับเป็นเวลาที่นับว่าสำคัญอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการทูตไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา กล่าวคือ เมื่อศาสตราจารย์จอร์ช เซเดส์ G. Coedes แห่งราชบัณฑิตยสภาและพิพิธภัณฑสถานประจำพระนคร ได้ลากลับไปพักผ่อนชั่วคราวในประเทศฝรั่งเศสแล้ว และในระหว่างนั้น ได้ไปพบหนังสือสำคัญอยู่ชุดหนึ่งซึ่งเป็นบทประพันธ์ของท่านกองต์ ดอนโน เดอ วิเซ (Comte Donneau de Vizé) ซึ่งมีชื่อเสียงในขณะนั้นว่า เป็นผู้เริ่มตั้งหนังสือรายคาบฉบับหนึ่งชื่อ Mercure Galante และหนังสือรายคาบฉบับนี้ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น Mercure de France ซึ่งนักวรรณคดีภาษาฝรั่งเศสไม่มีใครที่จะไม่รู้จัก ท่านขุนนางผู้นี้เป็นคนฝรั่งเศสคนหนึ่งที่ได้ติดสอยห้อยตามและบันทึกเหตุการณ์เกี่ยวกับการมาถึงฝรั่งเศสของออกพระวิสูตรสุนทร ออกหลวงบวรกัลยาณไมตรี และออกขุนศรีวิศาลวาจา ซึ่งเป็นราชทูต อุปทูต และตรีทูต ตามลำดับ รวมกันเข้าเป็นคณะทูตพิเศษของพระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา จำทูลพระราชสาส์นของพระองค์มาถวายสมเด็จพระเจ้าหลุยส์มหาราชที่ ๑๔ ณ พระราชวังแวร์ซายเมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๙ หนังสือชุดนี้ เมื่อนำมาเย็บรวมกันแล้ว ได้เป็นสี่เล่มสมุดฝรั่ง[1] และศาสตราจารย์เซเดส์ได้นำมาถวายสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ถึงแม้ข้าพเจ้าจะไม่มีหลักฐานมาอ้างอิงให้แน่นอนและชัดเจนอย่างที่จะโต้เถียงไม่ได้ ข้าพเจ้าก็กล้าที่จะกล่าวได้เต็ม

  1. หนังสือชุดนี้ ในห้องสมุดส่วนตัวของข้าพเจ้าก็มี แต่กว่าจะหาพบและหามาได้ ก็ใช้เวลาร่วมสามสิบปีก็ว่าได้
– 3 –