หน้า:ประวัติ - ปิติ วาทยะกร - ๒๕๑๒.pdf/6

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้ตรวจสอบแล้ว

ปากว่า สมเด็จกรมพระยาผู้มีพระสมญาว่า เป็นพระบิดาแห่งประวัติศาสตร์สยาม ทรงพระปรีดาปราโมทย์และทรงนิยมชื่นชมเป็นอย่างยิ่งที่จะได้เอกสารที่บันทึกเหตุการณ์อันสำคัญนี้จากผู้ที่เห็นเหตุการณ์นั้นจริง (eye-witness) เกี่ยวกับเรื่องการกระทำต่าง ๆ ของท่านโกษาปานในประเทศฝรั่งเศสเวลานั้น เพราะทุกคนก็ย่อมทราบแล้วว่า ข้อความที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าทั้งเล่มหนึ่งและเล่มสองซึ่งได้ตีพิมพ์ครั้งแรกที่โรงพิมพ์หมอบรัดเลย์มีข้อความเป็นทำนองโลดโผนบวกไสยศาสตร์และสิ่งที่พระเรียกว่า สาเถยยํ คือ ความโอ่อวด ชนิดที่บุคคลผู้อยู่หลังเหตุการณ์สามารถเก็บเอาอะไรนิดหน่อยมาขยายเป็นเรื่องเป็นราวน้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหลงเหลง จนกระทั่งไม่มีใครที่จะสามารถแยกความจริงออกจากเรื่องชนิดสัพเพเหระเหลวไหลไม่เป็นที่เชื่อถือได้ ข้าพเจ้าเชื่อว่า สมเด็จกรมพระยาฯ เวลานั้น แม้จะทรงปลาบปลื้มเป็นพิเศษก็จริง แต่เนื่องด้วยเหตุที่พระองค์ท่านมิได้มีความชำนาญทางภาษาฝรั่งเศสเหมือนดังทรงชำนาญภาษาอังกฤษ จนกระทั่งชาวต่างประเทศหลายคนได้แสดงความอัศจรรย์ใจว่า ทั้ง ๆ ที่พระองค์มิได้มีโอกาสเสด็จออกไปศึกษาเล่าเรียนภาษาอังกฤษนอกประเทศเลยก็ตาม เพียงแต่ได้ทรงศึกษาจากครูยอร์ช แพทเตอสัน (George Patterson) ภายในเวลาไม่นานเท่าใดนัก ก็สามารถทรงใช้ภาษาอังกฤษทั้งทางเขียนและทางสนทนาได้อย่างผู้รู้หลักนักปราชญ์เป็นที่น่าพิศวง เมื่อเป็นเช่นนี้ ปัญหาก็มีอยู่ว่า หากจะมีการถอดข้อความต่าง ๆ ของท่านเดอ วิเซ ออกมาจากภาษาฝรั่งเศสแล้ว จะถอดออกมาเป็นภาษาอะไรดี ถ้าจะให้ง่ายแล้ว ก็แปลออกจากฝรั่งเศสมาเป็นอังกฤษจะง่ายกว่า ดังที่นายเอดี มอร์ (Adey Moore) ได้เคยแปลประวัติศาสตร์ไทยสมัยแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททองซึ่งนายห้างพ่อค้าฮอลันดาคนสำคัญ

– 4 –