หน้า:ประวัติ - ปิติ วาทยะกร - ๒๕๑๒.pdf/54

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

สมัยรัชกาลที่ ๖ ถูกตัดลงจนหมดสิ้น เงินเดือนที่เคยได้รับพระราชทานเพียงเล็กน้อยก็ถูกจำกัดให้มีระดับคงที่ นักดนตรีได้รับความลำบากในเรื่องเงินที่ต้องใช้จ่ายเป็นค่าเช่าที่พัก, ค่าอาหาร, ค่าเครื่องนุ่งห่ม จนได้รับความยากแค้นลำเค็ญ เพราะหมดหนทางที่จะปลีกตัวไปสู่แหล่งอื่น ๆ แต่ถึงกระนั้นก็ดี น้ำใจที่รักวิชาศิลปก็ยังฝังแน่นอยู่เช่นเดิม ข้าพเจ้าได้ควบคุมให้เขาปฏิบัติงานและฝึกฝนฝีมือต่อไปอย่างขมักเขม้น และ ๓ ปีให้หลัง วงดนตรีนี้ก็สามารถบรรเลงเพลงขนาดสูง ๆ เช่น Symphonic Suite, Symphonic Poem ได้ดี สมรรถภาพของนักดนตรีในวงทำให้สบพระราชหฤทัยเป็นอันมาก บรรดานักดนตรีได้รับเงินเดือนเพิ่มบ้างเพื่อสนองความดีของเขาตามสมควร ส่วนข้าพเจ้าก็ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลาจากพระองค์เป็นบำเหน็จความชอบ จากนั้นแล้ว ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปิดการแสดง Symphony Concert สำหรับประชาชนขึ้น ณ โรงโขนหลวง สวนมิสกวัน และต่อมาที่ศาลาสหทัย เงินที่เก็บได้จากการแสดงนั้น ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้แก่องค์การสาธารณะกุศลโดยไม่หักค่าใช้จ่ายเลย คือ องค์การสภากาชาดไทย, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, โรงพยาบาลจีน, โรงพยาบาลศิริราช, โรงพยาบาล Mc. Cormick เชียงใหม่ เป็นต้น ผลของการปฏิบัติการบรรเลงดนตรีปรากฏคำชมเชยจากชาวต่างประเทศมากมายในหน้าหนังสือพิมพ์ Times, Siam Observer และ Bangkok Daily Mail ดังจะได้คัดมาเสนอเป็นบางราย ดังต่อไปนี้.-

– 52 –