หน้า:ปวศ กม ไทย - มธ - ๒๔๘๓.djvu/16

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
10
ข้อความทั่วไป

มหากษัตริย์อาหม เช่นเดียวกับมหากษัตริย์ประเทศไทย ถือตนว่าเป็นเจ้าชีวิตและเจ้าแผ่นดินทั่วทั้งหมดในประเทศ ฉะนั้น มีสิทธิแบ่งปันที่ดินให้แก่ใคร ๆ ได้ตามใจชอบ แต่มีระเบียบเกิดขึ้น ซึ่งมหากษัตริย์ปฏิบัติอยู่เสมอ กล่าวคือ ในเบื้องต้น ปาอิกทุกคนรับที่ดินแปลงหนึ่งเพื่ออาศัยอยู่และปลูกสวนเป็นการตอบแทนแรงงานที่ตนถูกเกณฑ์ไปรับราชการ นอกจากนี้ยังรับแบ่งนามีเนื้อที่ ๒ ปุรา คือ ราว ๗ ไร่ครึ่ง สำหรับที่ดินสองแปลงนั้นปาอิกผู้รับไม่ต้องเสียภาษีอากร ต้องเสียแต่รัชชูปการปีละ ๑ รูป ที่ดินแปลงที่ปลูกบ้านอยู่เป็นมฤดกตกทอดไปยังลูกหลาน ส่วนนานั้นคงเป็นของหลวง ผู้ทำไม่มีสิทธิโอนให้แก่ใคร และเมื่อผู้นั้นตาย ก็ต้องกลับมาเป็นของหลวง บางทีมหากษัตริย์เรียกนาคืนแล้วจัดแบ่งปันใหม่ นอกจากที่ ๆ ได้รับเพื่อตอบแทนการรับราชการดังกล่าวมาแล้ว พวกปาอิกอาจได้ที่ดินแปลงอื่นอีกด้วย การแผ้วถางที่รกร้างว่างเปล่า ผู้แผ้วถางต้องเสียภาษีปุราละ ๑ รูปี จึงมีสิทธิปกครองที่นั้นตลอดเวลาที่มหากษัตริย์ไม่ต้องการที่เพื่อมาให้แก่ปาอิกผู้อื่นที่ยังไม่ได้รับส่วนแบ่งเลย อนึ่ง มหากษัตริย์พระราชทานที่ให้แก่ขุนนางข้าราชการชั้นสูงเป็นเนื้อที่ผืนใหญ่ และพระราชทานแก่วัดวาอารามและเหล่าพราหมณ์ด้วย ในกาลต่อมา ข้าราชการผู้ใหญ่นั้นถือตนว่าเป็นเจ้าของที่ดินที่ได้รับพระราชทาน เป็นเหตุให้อำนาจของพระแผ่นดินอาหมเสื่อมลงข้อหนึ่ง[1]


  1. ข้อความเรื่องระบอบที่ดินในประเทศอัสสัมนี้ คัดมาจากหมวด ๙ ในหนังสือของ E. A. Gait, A History of Assam และเล่ม ๓ ในหนังสือของ B. H Baden-Powel, The Land-Systems of British India.
ม.ธ.ก.