ข้ามไปเนื้อหา

หน้า:พื้นเมืองเชียงใหม่ - สนร - ๒๕๑๔.pdf/4

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

ถูกต้องตามต้นฉบับหรือไม่ หนังสือเรื่องนี้จะต้องจัดพิมพ์ในนามของคณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารฯ ถ้าหากมีผิดพลาดพลั้งไป จะทำให้คณะกรรมการพลอยเสียชื่อไปได้ ขอให้ที่ประชุมพิจารณาในเรื่องนี้ด้วย"

ในที่ประชุม คณะกรรมการได้อภิปรายกันมาก รองประธานกรรมการ (พระยาอนุมานราชธน) ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ได้เคยทำสิงหนวัติมาแล้ว เป็นเรื่องที่แปลมาจากอักษรลานนาเหมือนกัน ได้ขอให้นายสุด ศรีสมวงศ์ แปล เราก็เชื่อไปตามนั้น เพราะเราให้เกียรติแก่ผู้แปลว่า เขาคงจะทำหรือแปลอย่างดีที่สุด ฉะนั้น ตามตำนานเมืองเชียงใหม่ ๘ ผูกนี้ เราควรดำเนินการไปตามที่นายสงวน โชติสุขรัตน์ แปลจากภาษายวน (คำเมือง) ส่งมาให้ได้" และเพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบถึงเจตนารมณ์ของคณะกรรมการ ศาสตราจารย์รอง ศยามานนท์ กรรมการ ได้เสนอว่า "ควรทำไปตามฉบับที่ได้มา แล้วอธิบายต้นเหตุของการทำให้ปรากฏไว้ ก็จะเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจเจตนาของคณะกรรมการฯ ผู้ดำเนินได้ดี" และเมื่อได้พิจารณากันแล้ว ที่ประชุมให้ลงมติ "ให้ดำเนินการไปตามที่รองประธานเสนอ" นี่คือปฐมเหตุที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ที่ได้นำมาพิมพ์ในครั้งนี้

ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่เรื่องนี้ เมื่อได้อ่านแล้วจะเห็นว่า คล้าย ๆ กับพงศาวดารโยนกที่พระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) ได้แปลและเรียบเรียงพิมพ์ขึ้นเมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ในงานพระราชทานเพลิงศพมหาอำมาตย์โท เจ้าพระสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล)) เรื่องราวทางตำนานคล้ายกันก็มี แตกต่างกันก็มี แต่เจตนารมณ์ของคณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารฯ ที่พิมพ์เอกสารสำคัญเรื่องนี้ ก็เพื่อจะรักษาไว้ซึ่งเอกสารอันมีค่าของชาติทางประวัติศาสตร์ขึ้นไว้อีกเรื่องหนึ่ง มิให้ต้นฉบับซึ่งหากไม่ได้พิมพ์ก็อาจเป็นอันตรายหรือถูกซื้อขายไปไว้นอกประเทศเสีย ก็จะเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ฉะนั้น การที่จะมีความคล้ายกับพงศาวดารโยนกบ้าง หรือแตกต่างกันบ้าง จึงไม่ใช่เรื่องสำคัญ ความสำคัญอยู่ที่เราได้เอกสารทรงค่าทางประวัติศาสตร์เพิ่มขึ้นอีกเรื่องหนึ่ง และประโยชน์ที่จะได้จากเอกสารเรื่องนี้ ก็คือ ได้หลักฐานเอกสารทางประวัติศาสตร์เพิ่มขึ้น แม้เพียงส่วนน้อย ก็จะเป็นเรื่องที่น่ายินดีมากกว่าสิ่งใด ๆ

เมื่อคณะกรรมการได้ตกลงให้ดำเนินการพิมพ์นั้น ได้กำชับให้พิมพ์ไปตามต้นฉบับทุกตัวอักษร แม้อักขรวิธีก็ให้เป็นไปตามต้นฉบับ มิให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขอย่างใดทั้งสิ้น ดั่งได้ทราบมาแล้วว่า ต้นฉบับตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่แปลมาจากอักษรไทยยวน ผู้แปลชื่อ นายทน ตนมั่น และจากการรักษาต้นฉบับอย่างเคร่งครัดนี่เอง ผู้อ่านจะได้พบความแตกต่างกันของชื่อบคคลชื่อสถานที่ในเอกสารเรื่องนี้ลางแห่งเรียกไม่เหมือนกัน เช่น โปสิรินอรถา โมยหวาน สิงหกอยถ่าง จะเกียคามุนี มกโซโป่ อ่องไชย ฯลฯ ซึ่งชื่อดังกล่าวนี้มีปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารของเราแล้วทั้งสิ้น แต่ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ได้เขียนไว้เช่นนั้น และคงจะออกเสียงตามนั้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีอยู่คำหนึ่งในหน้า ๑๐๖ บรรทัดที่ ๘ (นับจากบนลงล่าง) คำ "หื้อลัวะจูงหามพาแขกเข้าก่อน" อีกแห่งหนึ่งในหน้า ๑๓๒ บรรทัดที่ ๓๐ เป็น "หื้อลัวะจูงหามเสด็จเข้าแว่ไหว้พระเจ้าพระธาตุ" ในการจัดพิมพ์