ข้ามไปเนื้อหา

หน้า:พื้นเมืองเชียงใหม่ - สนร - ๒๕๑๔.pdf/5

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

ครั้งนี้ คณะกรรมการผู้รับมอบให้ดำเนินงานพิมพ์มีความสงสัยคำ "หื้อลัวะจูงหาม" เป็นอันมาก ได้ให้นายทอง ไชยชาติ กรรมการผู้เชี่ยวชาญอักษรและภาษาภาคเหนือภาคอีสาน ไปสอบทานอ่านต้นฉบับที่มีอยู่ ณ หอสมุดแห่งชาติ นายทอง ไชยชาติ ได้รายงานมาว่า ได้พบคำที่ว่านี้ปรากฏอยู่ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ผูก ๗ อังกาที่ ๑๔ หน้าหลัง บรรทัดที่ ๑ ว่า "ลวะจูงหมาพาแซกเข้าก่อน"[1] อีกฉบับหนึ่ง "จูงหมา"[2] ตรงกัน และอีกฉบับหนึ่ง คือ พงศาวดารเชียงใหม่ "ลวะจูงหม่า" เช่นกัน[3] เมื่อได้ทราบว่า ต้นฉบับแท้จริงเป็น "จูงหมา" ดั่งนี้ ก็เป็นเรื่องแก้ไขอย่างไรไม่ทันเสียแล้ว จึงปล่อยไปตามที่พิมพ์ และจะหาค้นหาถึงประเพณีให้ลัวะจูงหมานำเสด็จว่าเกิดจากอะไรมาเล่าสู่กันฟังต่อไป

คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารขอขอบคุณนายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ นายยิ้ม ปัณฑยางกูร นายทอง ไชยชาติ และนายเฉลียว จันทรทิพย์ ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการจัดพิมพ์เริ่มตั้งแต่พิมพ์ยกร่างจากฉบับที่นายสงวน โชติสุขรัตน์ แปลและพิมพ์ส่งมาให้ และได้ช่วยกันตรวจทานต้นฉบับ ตรวจใบพิสูจน์ และทำดรรชนี เป็นที่เรียบร้อย ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่คงจะอำนวยประโยชน์แก่นักศึกษาวิชาประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาไม่น้อย โดยเฉพาะครั้งสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถแห่งกรุงศรีอยุธยาทรงทำสงครามกับพระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่ว่า มีเหตุมาจากพระยายุทธิษเฐียร เจ้าเมืองสองแคว (พิษณุโลก) ผู้เป็นเชื้อสายพระราชวงศ์สุโขทัย ซึ่งเป็นพระสหายกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ น้อยใจว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถทรงผิดสัญญา เพราะ "พระยาบรมไตรโลกนารถกับพระยายุทิสเถียงสองแควเมื่อยังนับข้าเจ้าเป็นสหายกัน ยุทิสเถียงจากับพระบรมไตรโลกว่า กันกได้เป็นท้าวพระยาแล้ว จักหื้อข้าเป็นใหญ่ปูนใดจา บรมไตรโลกว่า ผิกูได้เปนพระยาแท้ จักหื้อสหายเป็นอุปราชกินเมืองครึ่งหนึ่ง จาว่าอั้น เมื่อบรมไตรโลกได้เสวยราชสมบัติแท้ เท่าหื้อยุทิสเถียงกินเมืองสองแควเปล่าดาย บ่หื้อเป็นอุปราชดั่งคำอันได้จากัน ยุทิสเถียงเคียดแก่พระยาบรมไตรโลก" ข้อความดังกล่าวนี้ไม่ปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับใด ๆ ของเราเลย เมื่อได้อ่านตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ฉบับนี้แล้ว เราจึงได้ทราบถึงสาเหตุที่พระยายุทธิษเฐียร "คิดเป็นกบฏพาเอาครัวทั้งปวงไปออกแต่มหาราช" เมื่อจุลศักราช ๘๒๒ เพราะน้อยใจมิได้เป็นมหาอุปราชดั่งปรากฏในข้อความที่ยกมา

ปัจจุบัน มีอุปาทานอย่างหนึ่งเกิดขึ้นในวงการผู้ศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ นั่นคือ ไม่ยอมให้ความเชื่อถือต่อเอกสารเก่า ๆ ของชาติที่มีคำ "ตำนาน" นำหน้าชื่อเรื่อง โดยทำความเข้าใจเอาเองว่า ขึ้นชื่อว่า ตำนาน แล้ว จะเชื่อถือเอาเป็นหลักฐานแน่นอนไม่ได้ คงจะเข้าใจว่า ตำนาน หมายถึง นิยายที่เล่า


  1. ตำนานฉบับนี้จารเมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ ปีมะแม หอสมุดแห่งชาติซื้อจากนายสงวน โชติสุขรัตน์ เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๐
  2. พงศาวดารเชียงใหม่ ฉบับ ๘ ผูก (ขาดผูก ๑) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทานหอพระสมุดวชิรญาณไว้เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๐
  3. พงศาวดารเชียงใหม่ ฉบับ ๑๐ ผูก (ไม่จบ) สมเด็จพระวันรัต (จ่าย) วัดเบญจมบพิตร จ. พระนคร ให้หอพระสมุดวชิรญาณ ไม่ทราบ พ.ศ. และในพงศาวดารเชียงใหม่ ฉบับเก่าของหอพระสมุดฯ ฉบับ ๑๐ ผูก ในผูก ๗ อังกาที่ ๑๓ (ใบลานที่ ๑๓) หน้า ๑ บรรทัดที่ ๓ ก็มีคำดังกล่าวเช่นกัน