ข้ามไปเนื้อหา

หน้า:พื้นเมืองเชียงใหม่ - สนร - ๒๕๑๔.pdf/6

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

กันสืบ ๆ มาแล้วมารวบรวมเรียบเรียงแล้วจารลงไว้ในใบลานในสมุดข่อยเก็บรักษาไว้ตามหอหนังสือตามตู้สมุดเพียงเท่านั้นเองกระมัง? ไม่เหมือนหลักฐานที่ปรากฏอย่างแน่นอนมั่นคง เช่น ศิลาจารึก ลานทอง ลานเงิน ลานทองแดงจารึก การที่มีผู้เข้าใจและมีอุปาทานเช่นกล่าวก็เป็นเอกสิทธิที่จะพึงมีพึงเชื่อ แต่ตำนานที่บรรพชนของเราประมวลมาเรียบเรียงรวบรวมแล้วจารลงในใบลานในสมุดข่อยก็นับเนื่องเป็นหลักฐานอย่างหนึ่งเหมือนกัน จะปฏิเสธว่า ไม่เป็นความจริงไม่น่าเชื่อไปเสียทั้งหมด ก็เป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะในตำนานนั้น ๆ ได้แสดงออกซึ่งเหตุการต่าง ๆ ในอดีต จดจารเรื่องราวที่เกิดขึ้นด้วยการเล่าขานกันต่อมา แม้จนเรื่องราวของบุคคล ของปูชนียสถาน โบราณวัตถุ การสร้างบ้านแปลงเมือง ชาวเราก็ได้รู้ได้ทราบได้ศึกษากันมาจากตำนานเกือบทั้งสิ้น ตำนานในที่แห่งนี้ ก็คือ ประวัติศาสตร์ที่เรามาบัญญัติศัพท์กันให้คมคายขึ้นเท่านั้นนั่นเอง ซึ่งถ้าจะแปลความหมายของประวัติศาสตร์แล้ว ก็คงจะได้ความหมายไม่แตกต่างไปกว่าความหมายของคำ "ตำนาน" นั่นเท่าใดนัก ฉะนั้น จึงหวังได้ว่า ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ก็คงจะให้ความรู้ในอดีตอันเกี่ยวกับอาณาจักรลานนาที่สัมพันธ์กับอาณาจักรสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ ในกาลอันล่วงลับไปนับด้วยพันปี แก่ผู้อ่านผู้ศึกษาได้อย่างไม่ต้องสงสัย

คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารฯ ไม่อาจเว้นขอบพระคุณ ฯพณฯ จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ที่ได้กรุณาจัดสรรงบประมาณให้กรรมฯ จัดพิมพ์เอกสารเรื่องนี้ขึ้นอีกหนึ่งเรื่อง นอกจากเรื่องอื่น ๆ ที่ได้อนุมัติให้พิมพ์มาแล้ว ประโยชน์ที่อนุชนจะได้รับจากการศึกษาเอกสารทางประวัติศาสตร์มีมากจนเกินที่จะนำมากล่าวในที่แห่งนี้ให้ครบถ้วน ในฐานะที่ ฯพณฯ เป็นประมุขรัฐบาลที่ได้ส่งเสริมการศึกษาของชาติอยู่แล้วตามนโยบายการบริหารประเทศชาติ แต่ ฯพณฯ ย่อมได้ชื่อว่า เป็นผู้ให้วิทยาทาน เท่ากับให้ดวงประทีปแก่อนุชนและผู้ศึกษา ซึ่งไม่มีการให้ใด ๆ จะเลิศไปกว่าการให้ความรู้ อันเป็นการให้ที่ชนะการให้ทั้งปวง

หวังว่า ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่จะให้สารประโยชน์ทางประวัติศาสตร์ของชาติไทยรวมทั้งให้ความรู้ทางภาษาศาสตร์เพิ่มขึ้นแก่ผู้อ่านตามสมควร

คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์
สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี
วันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๑๔