หน้า:ภาพยนตร์ไทย - สมชาย พุ่มสอาด - ๒๕๑๔.pdf/39

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๓๙

ใหญ่ได้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวและมาพักอยู่ในเมืองไทยมากขึ้นนั่นเอง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงพระราชดำริที่จะให้สถานที่มหรสพอันทันสมัยทัดเทียมกับต่างประเทศขึ้นสักแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เพื่อให้เป็นที่อำนวยความบันเทิงเริงรมย์แก่ประชาชนทั่วไปและเป็นที่เชิดหน้าชูตาของเมืองไทยด้วย หลังจากที่ทรงตรวจสถานที่เสร็จแล้ว ทรงเห็นว่า ตรงถนนเจริญกรุงตัดกับถนนตีทองเหมาะที่สุด เพราะเป็นที่เด่นอยู่ตรงหัวมุมพอดี และได้ทรงประกอบพระราชพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ แล้วพระราชทานนามว่า “ศาลาเฉลิมกรุง” หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร ทรงออกแบบ (ภาพฤาษีที่ปรากฏ ณ. ศาลาเฉลิมกรุงนั้น คือ ศีรษะพระภรตมุนี ซึ่งเป็นบรมครูองค์แรกของศิลปินนั่นเอง) แล้วบริษัทบางกอกเป็นผู้รับเหมาทำการก่อสร้าง เมื่อการก่อสร้างสำเร็จลงแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี