หน้า:รวมงาน - วชิราวุธ - ๒๕๐๑.pdf/214

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
๒๐๒

"กุพฺชก” เลยต้องเปลี่ยนความคิด, เพราะถ้าแม้ว่าจะให้ชื่อ "กุพฺชกา" ก็จะกลายเป็นนางค่อมไป, ข้าพเจ้าจึ่งค้น หาดูศัพท์ต่าง ๆ ที่พอจะใช้ได้เป็นนามสตรี. ตกลงเลือกเอา "มัทนา" จากศัพท์ “มทน” ซึ่งแปลว่าความลุ่มหลงหรือความรัก. เผอิญในขณะที่ค้นนั้นเองก็ได้พบศัพท์ “มทนพาธา", ซึ่งโมเนียร์ วิลเลียมส๎ แปลไว้ว่า "the pain or disquietude of love” (“ความเจ็บหรือเดือดร้อนแห่งความรัก"), ข้าพเจ้าได้ฉวยเอาทันที, เพราะเหมาะกับลักษณะแห่งเรื่องทีเดียว. เรื่องนี้จึงได้นามว่า "มัทนะพาธา" หรือ "ตำนานแห่งดอกกุหลาบ” ด้วยประการฉะนี้.

เรื่องละครนี้ ความตั้งใจเดิมของข้าพเจ้าจะแต่งขึ้นเป็น แต่หนังสือสำหรับอ่านอย่างกวีนิพนธ์เท่านั้น; แต่ได้มีญาติมิตรขอให้จัดเล่นออกโรง, ข้าพเจ้าจึงตกลงตาม. ส่วนนักประพันธ์อื่น ๆ จะรู้สึกอย่างไรก็ตาม, แต่ส่วนตัวข้าพเจ้าต้องสารภาพว่าเมื่อข้าพเจ้าได้แต่งหนังสือตั้งรูปขึ้นเป็นละครแล้ว ก็ย่อมจะรู้สึกพอใจเมื่อมีผู้ขอให้เล่นเรื่องละครนั้น; และถ้าแม้ว่ามิได้พอใจหรือปรารถนาที่จะให้ผู้ใดเอาเรื่องของเราไปเล่นออกโรงเป็นละคร, เราจะประดิษฐ์รูปเรื่องของเราขึ้นไว้เป็นอย่างละครทําไม ?