หน้า:รัฐธรรมนูญบริติช (ดิเรก ชัยนาม, 2490).pdf/15

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
บทที่ ๑
รัฐธรรมนูญบริติช

มีผู้กล่าวว่า ประเทศอังกฤษมีรัฐธรรมนูญซึ่งไม่ได้เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร (unwritten constitution) ซึ่งเป็นทั้งความจริงและไม่เป็นความจริงทั้งสองอย่าง ที่ว่าเป็นความจริง เพราไม่มีบทกฎหมายบัญญัติไว้โดยละเอียดเป็นฉะบับเดียวอย่างรัฐธรรมนูญของเรา แต่ที่ว่าไม่เป็นความจริง ก็เพราะมีกฎหมายหลายฉะบับซึ่งวางหลักในทางปฏิบัติเกี่ยวกับการปกครองโดยรัฐสภา ปัญหาจึงมีว่า ถ้าไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ชัดเจนแล้วปฏิบัติกันอย่างใด คำตอบก็คือ นอกจากกฎหมายซึ่งวางหลักในการปฏิบัติในบางเรื่องแล้ว ถ้าไม่มีกฎหมายบัญญัติ ก็ใช้ธรรมนิยม (conventions) หรือตัวอย่างที่ศาลสูงสุดไว้วางบรรทัดฐานไว้

อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญของบริติชนี้มีลักษณะยืดหยุ่นได้ง่าย (flexible) เพราะการแก้ไขง่ายกว่ารัฐธรรมนูญของประเทศอื่นซึ่งมีลายลักษณ์อักษรอย่างรัฐธรรมนูญของไทยเราเป็นต้น การแก้รัฐธรรมนูญของอังกฤษอาจทำได้โดยรัฐสภาผ่านกฎหมายเช่นเดียวกับผ่านกฎหมายธรรมดาอื่น

รัฐธรรมนูญของทุกประเทศย่อมมีบทบัญญัติซึ่งวางกฎเกณฑ์ว่าด้วยอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และตุลาการ แต่กฎเกณฑ์ดังกล่าวนี้ สำหรับรัฐธรรมนูญบริติช แยกออกเป็นสอง คือ

(๑) กฎเกณฑ์ซึ่งปรากฏชัดโดยกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติชื่อ "Act of Settlement" ซึ่งประกาศใช้ในรัชชกาลพระเจ้า