หน้า:รับสั่ง - ดำรง - ๒๔๙๓.pdf/42

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๓๖

ไก่อีกว่า ให้เตรียมการพิศูจน์โดยหาสิ่งของต่าง ๆ ไว้ ในจำพวกสิ่งของให้หาไว้นั้นมี "ไก่ตัวผู้รู้ขันประจำยามข้างละตัว ไก่บังสะกุนไหว้เทพารักษ์ข้างละสองตัว" ดังนี้ สังเกตความในที่นี้เหมือนจะมีไก่สองประเภท คือ ไก่เป็นที่ให้คุมลูกความไปซื้อ ประเภทหนึ่ง ไก่สังเวยเทวดา ประเภทหนึ่ง และคล้าย ๆ กับจะแยก "ไก่ตัวผู้รู้ขันประจำจำยาม" ออกไปได้อีกประเภทหนึ่ง ถ้าเช่นนี้ก็ถึงสามประเภทด้วยกัน

ข้าพระพุทธเจ้าได้บอกแก่นายแล็งกาต์ว่า จะลองกราบทูลความดูในเรื่องไก่นี้ด้วย

ควรมิควรและแต่จะโปรดเกล้าฯ
ธานีนิวัต
วันที่ ๒๖ กันยายน ๒๔๘๓
ธานี

หนังสือลงวันที่ ๒๑ ได้รับแล้ว ที่ไม่ได้พูดถี่ถ้วนเมื่อเวลาเลี้ยงพระ เขียนหนังสือมาให้ทีหลังนั้น ดีแล้ว เพราะอาว์หูไม่ดีเสียแล้ว ฟังพูดอาจเข้าใจผิดไปได้ ถ้าเป็นหนังสือแล้ว ไม่เข้าใจผิดไปได้เลย ตามหนังสือซึ่งเธอเขียนไปให้นั้น อาว์ได้ความรู้กว้างออกไปเหมือนกัน แล้วทำให้มีความคิดกว้างออกไปตามกันด้วย

คำที่เรียก "กระลา" เดาว่า ทีจะเป็น "กาละ" เพราะใช้มันลอยน้ำกำหนดเป็นเวลา ส่วนคำว่า "ปราณ" ซึ่งบอกมาก่อน คิดโดยเดาว่า จะเป็ยระยะเวลาหายใจนั้น ทีจะผิดเสียแล้ว กลับตรงกันข้าม เป็นกลั้นใจ ตรงกับคำที่ใช้กันอยู่ว่า "อึดใจ" มาตราแต่ละอย่าง เดิมก็ใช้ในธุระอย่างหนึ่ง ไม่ติดต่อกัน หากมีผู้รู้รวบรวมเอาทุกอย่างมาต่อกันเข้าทีหลัง และการต่อนั้น ถ้าหลงเอาต่อกันเข้าผิด ก็พาให้เราหลงผิดไปด้วย