หน้า:รายงานการประชุม สผ (๒๔๗๕-๑๑-๒๖) a.pdf/4

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๔๕๑

ในส่วนร่างกาย เคหสถาน ทรัพย์สิน การพูด การเขียน ฯลฯ ซึ่งโดยปกติประชาชนทั้งหลายก็มีอิสรระภาพอยู่แล้วในการพูด แต่ว่าพูดภายในบทบังคับแห่งกฎหมาย จะไปหมิ่นประมาทกล่าวร้ายรุกรานผู้ใดมิได้ แต่ว่าในมาตรา ๒๘ นี้ สำหรับในการที่ใครมาพูดในที่ประชุมนี้ สมาชิกจะกล่าวข้อความใดในทางแสดงความคิดเห็นหรือออกเสียงในการลงมติก็ดี ย่อมมีเอกสิทธิเด็ดขาดทีเดียวในการที่จะกล่าว แม้ว่าจะเป็นข้อความหมิ่นประมาทหรือที่กฎหมายบัญญัติว่าเป็นผิดก็ตาม ถ้าหากไปกล่าวข้างนอกแล้วก็มีผิดนั้น หากมากล่าวในที่ประชุมนี้ ก็มีเอกสิทธิที่จะกล่าวได้ ทั้งนี้ จะเห็นว่า เป็นความอิสสระอย่างหนึ่งที่ให้แก่สมาชิกของสภา ซึ่งเป็นความประสงค์จะได้ความคิดความเห็นอันแท้จริงในข้อความใดที่ ๆ ประชุมปรึกษาพิจารณา อีกอย่างหนึ่ง เพิ่งมานึกได้ว่า เด็กหรือผู้ใหญ่ในที่นี้ ในการออกเสียงและความเห็น ย่อมมีอิสสระเท่ากันหมด เอกสิทธินี้เป็นเรื่องของสมาชิก ยิ่งกว่านั้น ถ้ามีผู้ใดซึ่งเป็นผู้ชำนาญหรือบุคคลใดมาแสดงความเห็นในสภานี้ก็ตาม บุคคลนั้น ๆ ก็ย่อมมีเอกสิทธิที่จะกล่าวได้เหมือนกัน อีกข้อหนึ่ง คือ ความในวรรคที่ ๒ บรรทัดแรก ที่ว่า เอกสิทธินี้คุ้มครองไปถึงผู้พิมพ์และโฆษณารายงานการประชุมโดยคำสั่งของสภา นั้น แปลว่า แม้สมาชิกหรือบุคคลใดที่สภาได้เชิญมากล่าวความเห็นโดยอิสสระ และไม่มีผู้ใดจะนำไปฟ้องร้องยังศาลได้ก็จริงอยู่ แต่ถ้าหากว่า หนังสือพิมพ์นำไปลงเฉย ๆ นั้น หนังสือพิมพ์ก็ต้องอยู่ภายในบทบังคับแก่กฎหมาย