หน้า:รายงานการประชุม สผ (๒๔๗๕-๑๑-๒๖) a.pdf/40

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๔๘๗

ภายในไม่ถึงเดือนครึ่งเช่นนั้นแล้ว เราจะมีวิธีทำประการใดบ้าง เพราะในที่นี้ อย่างน้อยต้องเป็นเดือนครึ่ง ส่วนในมาตรา ๕๒ นั้น เป็นคนละเรื่องที่ว่า เมื่อมีเหตุฉุกเฉิน ในหลวงออกกฎหมายได้ ฉะนั้น จึ่งอยากไขความให้แจ้ง

ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ถ้าหากจะไปใส่ไว้แล้วหน่วงเหนี่ยวก็จะไม่ดีเลย

หลวงประดิษฐ์มนูธรรมกล่าวว่า วิธีแก้มิได้อย่างนี้ ในมาตรา ๕๒ เราให้อำนาจพระมหากษัตริย์ ซึ่งในที่นี้คือ กรรมการราษฎรทำขึ้นไปในการที่จะออกบทกฎหมายเมื่อเห็นสมควร สำหรับที่หลวงธำรงฯ สงสัยนั้น คือว่า ถ้าสมาชิกสภามีความประสงค์จะให้มีกฎหมายเชนนั้นแล้ว ก็ไปบอกแก่คณะกรรมการราษฎรขอให้ออกพระราชกำหนดความประสงค์ ถ้าคณะกรรมการราษฎรเห็นสมควร ก็จะออกให้ทันที แต่ถ้าไม่เห็นสมควร คณะกรรมการราษฎรก็จะงดเสีย แต่การงดนี้ จะต้องมีเหตุผล เมื่อไม่มีเหตุผล ก็เรียกประชุมสภา เรียกตัวคณะกรรมการราษฎรมาสอบถามมูลเหตุได้ ถ้าเห็นว่า ไม่สมควร จะโว๊ตความไม่วางใจเสีย ก็ทำได้ เป็นทางแก้ขัดข้อง

ประธานสภาฯ กล่าวว่า ตามร่างที่พิจารณามานี้ เมื่อไม่มีผู้ใดจะอภิปรายต่อไปอีกแล้ว ขอให้ลงมติต่อไป ไม่มีผู้ใดคัดค้าน สมาชิกทั้งหมดลงมติเห็นชอบตามร่างที่เสนอ เป็นอันว่า ที่ประชุมลงมติรับรองความในมาตรา ๓๙ ดั่งที่ปรึกษาพิจารณามานั้น