หน้า:รายงานการประชุม สผ (๒๔๗๕-๑๑-๒๖) a.pdf/39

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๔๘๖

ความไว้เนื้อเชื่อใจ แต่ว่ากิจการใดต่างฝ่ายจะวิ่งไปโดดเดี่ยวนั้นไม่ได้ ฉะนั้น จึ่งต้องมีเครื่องจักร์คอยหน่วงเหนี่ยวกัน สำหรับการที่นำร่างพระราชบัญญัติขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายนี้ ถ้าพระองค์ท่านไม่เห็นด้วย ก็จะระงับไว้เดือนหนึ่ง แล้วเรามาดำริกันอีกครั้งหนึ่งในร่างตามที่ได้ถวายไป เมื่อเห็นตามเดิมแล้ว ก็นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายอีกทีหนึ่ง คราวนี้ แม้พระองค์ท่านไม่ทรงเห็นด้วย ก็จะระงับหน่วงเหนี่ยวไว้ได้ ๑๕ วัน และถ้าไม่พระราชทานลงมา เราก็ประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ เพราะฉะนั้น ถ้าแม้ที่ประชุมรับว่า ควรจะมีการหน่วงเหนี่ยวรั้งและถ่วงซึ่งกันและกันแล้ว ก็พิจารณาต่อไปว่า การเหนี่ยวรั้งซึ่งมีอยู่นี้พอเพียงหรือไม่ ซึ่งจะอยู่ในความวินิจฉัยแห่งที่ประชุม

หลวงอรรถสารประสิทธิ์ถามว่า ถ้าเกิดการด่วน จะทำอย่างไร

ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ในเรื่องนั้น มีอีกมาตราหนึง อยู่ในเรื่องบริหาร คือ มาตรา ๕๒

หลวงอรรถสารประสิทธิ์กล่าวว่า ในมาตรา ๕๒ นั้น เป็นบทที่ให้อำนาจแก่พระมหากษัตริย์ ทีนี้ ถ้าหากว่าท่านไม่อนุมัติ จะทำอย่างไร

ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญตอบว่า ที่พูดมานั้นเป็นเรื่องเกี่ยวแก่เรื่อง emergency ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับมาตรานี้

หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์กล่าวว่า ที่หลวงอรรถสารฯ ถามนั้น เข้าใจว่า ถามว่า ถ้าแม้เป็นกฎหมายที่ด่วน ซึ่งจำเป็นจะต้องประกาศ