หน้า:รายงานการประชุม สผ (๒๔๗๕-๑๑-๒๖) b.pdf/23

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๕๐๙

ไว้ทางโน้นทางนี้ เราบัญญัติมาตรา ๕๐–๕๑ ที่จะผิดตัวไปจากเราประสงค์ไม่ได้ แต่ท่านต้องระวังว่า ไม่เอาคนที่เราไม่ประสงค์ ท่านก็เสียเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ตามวิธีการ ต้องตั้งผู้มีเสียงข้างมากในสภา เพราะไปตั้งผู้อื่นไม่ได้ ตั้งเข้าก็ต้องออก ทำงานการอะไรไม่ได้เลย

พระเรี่ยมฯ แถลงว่า ขอสนับสนุนประธานอนุกกรรมการฯ ที่เห็นว่า มาตรานี้ใช้ได้ดี ข้าพเจ้าเห็นที่ต่างประเทศ จะเป็นที่อังกฤษหรือฝรั่งเศสก็ดี การดำเนิรไปตามรูปนี้ นี่เป็นแต่ตัวหนังสือ พระมหากษัตริย์ตั้ง มีอยู่ตอนเดียวที่ยุ่งยาก เมื่อขณะการเมืองปั่นป่วน เช่น ผู้ที่จะรับหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการราษฎรใหม่หาพรรคพวกไม่ได้ แต่ขอไปทีหนึ่ง และทำไปบางทีต้องเปลี่ยน การเปลี่ยนคณะเสนาบดีไม่แปลกอะไร จำได้ว่า เมื่อปี ๑๙๑๒ ที่ประเทศฝรั่งเศสในอาทิตย์เดียวเปลี่ยนคณะเสนาบดีถึง ๔ ครั้ง เนื่องจากความปั่นป่วน จึ่งมีบทบัญญัติว่า พระเจ้าแผ่นดินอาจยุบสภาได้เพราะว่า ข้อหารือนั้นตกลงยาก อีกประการหนึ่ง ขืนปล่อยไว้ การงานต่าง ๆ ก็ไม่สำเร็จ เพื่อจะให้ความระงับต่อกันได้ จึ่งให้เลิกไปเสียทีหนึ่ง เท่าที่เห็นเขาทำมา ให้ผลดี คงไม่ให้ผลร้ายแก่ประเทศเรา

พระยานิติศาสตร์ฯ กล่าวว่า เรื่องนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่า ลำบากเหมือนกัน เมืองไทยเวลานี้ เราไม่มีหลายปาร์ตีเหมือนอย่างประเทศอื่น เช่น ที่ในอังกฤษ พอเลือกตั้งผู้แทนเสร็จ ก็รู้ได้ทันทีว่า ใครมีคะแนน