หน้า:รายงานการประชุม สผ (๒๔๗๕-๑๑-๒๘).pdf/6

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๕๖๒

ได้ตกลงให้ตัดคำว่า "สยาม" ออก แต่นักปราชญ์ทางภาษาว่า ถ้าตัดคำว่า สยาม ออกเสีย ก็จะไม่สละสลวยดี

พระธรรมนิเทศกล่าวว่า ในการที่เห็นสมควรจะให้เติมคำว่า สยาม ลงไว้อีกนั้น ก็เนื่องจากน้ำหนักของเสียงไม่เข้ากัน ถ้อยคำไม่สละสลวย คือ คำว่า "ตำ" และ "แหน่ง" มีเสียงหนัก ส่วนคำว่า "จอม" กับ "ทัพ" มีเสียงเบา ถ้าจะให้มีแต่ฉะเพาะ ๔ คำนี้ ความก็จะกลืนกันไม่สนิท เพราะพอขึ้นต้น "ตำแหน่ง" ก็เสียงหนัก ครั้นมาลงท้าย "จอมทัพ" เป็นเสียงเบา ความจึงไม่เสนาะ ฉะนั้น ถ้าใส่คำว่า "สยาม" เข้าไว้ ก็จะฟังสนิทดี

พระประพิณฯ กล่าวว่า ในการที่จะให้ลงไว้นั้น ไม่ขัดข้อง

ที่ประชุมอนุมัติให้เติมคำว่า "สยาม" ต่อท้ายมาตรา ๕ ตามร่างเดิม

มาตรา ๖ ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า คำว่า สภาผู้แทนราษฎร นั้น จะให้ใช้คำอื่นหรืออย่างไร เพราะบัดนี้ กลายเป็น ๒ สภาขึ้นแล้ว รวมทั้งรัฐมนตรีสภาด้วย

พระยาราชวังวันกล่าวว่า คำว่า "สมัชชา" เห็นเป็นคำที่เคยใช้มาแล้วในทางราชการ ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า "Assembly" ฉะนั้น สำหรับสภาผู้แทนราษฎรนี้ จะเรียกว่า "สมัชชาผู้แทนราษฎร" (National Assembly) ก็เห็นจะเหมาะ