หน้า:รายงานการประชุม สผ (๒๔๗๕-๑๑-๒๘).pdf/7

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๕๖๓

นายสงวน ตุลารักษ์ กล่าวว่า คำว่า "สภาผู้แทนราษฎร" นี้ อยากจะสงวนไว้ใช้ต่อไป เพราะเป็นคำที่รู้จักกันทั่วไปแล้ว หากจะเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่นแล้ว ก็จะทำให้ราษฎรงงว่า เป็นอะไรก็ไม่ทราบ แต่ถ้าหากจะใช้คำว่า สมัชชา แล้ว ก็ควรจะเปลี่ยนทางสภารัฐมนตรีดีกว่า

หลวงแสงนิติศาสตร์กล่าวว่า ข้าพเจ้าเองก็ไม่เป็นผู้ที่มีความรู้ทางอักษรศาสตร์ แต่กระนั้นก็ดี รู้สึกว่า คำว่า "สมัชชา" เป็นคำใหม่เหลือเกิน ถ้าเปลี่ยน "สภาผู้แทนราษฎร" เป็นคำอื่นแล้ว ก็จะไม่มีผู้ใดเข้าใจ อาจจะสงสัยว่า ตั้งอะไรขึ้นใหม่ และตามความเข้าใจ คำว่า "สภา" นั้นเป็นที่ชุมนุมคนมาก เช่น สภากาชาดสยามฯ เป็นต้น จึ่งเห็นควรคงคำเดิมไว้ แม้จะต้องเปลี่ยนใช้คำ สมัชชา ก็ขอให้เปลี่ยนทางรัฐมนตรีสภา

หลวงอรรถสารประสิทธิ์กล่าวว่า หลวงแสงฯ เป็นผู้ที่ไม่มีภูมิ์รู้ในทางอักษรศาสตร์ เห็นว่า ควรจะให้ท่านผู้เป็นปราชญ์ในทางนี้พิจารณาดีกว่าว่า สมควรจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร

ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญตอบว่า ถ้าว่า คำ "สมัชชา" เป็นคำใหม่ จะคงชื่อสภาไว้ทั้งสองอย่าง ก็ไม่เห็นลำบาก แต่เมื่อจะเปลี่ยนจริง ๆ แล้ว ก็สุดแต่ที่ประชุม

หลวงแสงนิติศาสตร์รับรองให้ลงชื่อไว้ทั้งสองสภา คือว่า ไม่ต้องเปลี่ยนชื่อสภาผู้แทนราษฎร