หน้า:รายงานการประชุม สผ (๒๔๗๕-๑๑-๒๘).pdf/8

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๕๖๔

พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้ เมื่อได้อ่านดูตลอดแล้ว เห็นใช้คำ "สภาผู้แทนราษฎร สั้น ๆ หลายแห่ง คือ เรียกว่า สภา เฉย ๆ ซึ่งบางทีจะทำให้เข้าใจผิดได้ เพราะมาบัดนี้ เราเปลี่ยนชื่อ คณะกรรมการราษฎร ว่า รัฐมนตรีสภา เกิดมีชื่อเป็น ๒ สภาขึ้น ฉะนั้น จึงควรจะเปลี่ยนชื่อเรียกว่า สมัชชา เสียบ้าง ซึ่งคำนี้ ทางราชการก็รับรองใช้กันมาแล้ว และคำที่ว่าสั้น จะทำให้เข้าใจผิด ก็เช่นในมาตรา ๖๖ และ ๖๗ เป็นต้น

ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ในมาตรานั้น ได้กล่าวถึงเรื่องสภาผู้แทนราษฎรมาแต่มาตรา ๖๕ แล้ว ครั้นมาถึงมาตรา ๖๖ และ ๖๗ ความก็ต่อเนื่องกันมา เห็นว่า จะไม่ทำให้เข้าใจว่าเป็นสภาอื่นเป็นแน่

พระยาศรีวิสารวาจากล่าวว่า ในชั้นแรก ก็ไม่ตั้งใจจะพูด หากแต่คำว่า "สมัชชา" นี้เป็นคำที่กระทรวงการต่างประเทศได้แปลใช้สำหรับคำว่า Assembly คือ ที่ประชุมใหญ่ของ League of Nations (สันนิบาตชาติ) แต่ใจนั้นรักคำว่า สภา หากแต่มีความเห็นพ้องกับพระยานิติศาสตร์ฯ ว่า ในรัฐธรรมนูญนี้มีกล่าว คือว่า สภา ๆ เฉย ๆ มาก จึ่งอยากจะให้ใช้คำว่า "สมัชชา"

หลวงโกวิทฯ กล่าวว่า ควรที่จะใช้คำเดิม คือ "สภาผู้แทนราษฎร"