หน้า:รายงานการประชุม สร (๒๕๐๓-๐๘-๒๕).pdf/4

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๓๐๕๔

(๓) ให้บุคคลดังต่อไปนี้ได้รับเอกสิทธิและความคุ้มกันอย่างเดียวกันกับที่ให้บุคคลในคณะทูตในฐานะเทียบเท่า คือ

 (ก) ผู้ว่าการ กรรมการบริหาร และกรรมการสำรองของสมาคม

 (ข) ผู้เชี่ยวชาญและพนักงานของสมาคมนอกจากที่กล่าวใน (ก) ตามที่รัฐบาลไทยกับสมาคมจะได้ทำการตกลงกัน

(๔) ให้พนักงานและลูกจ้างของสมาคมนอกจากที่กล่าวใน (๓) ได้รับเอกสิทธิและความคุ้มกันในประเทศไทยเช่นเดียวกับที่ให้แก่พนักงานขององค์การสหประชาชาติและทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติในฐานะเทียบเท่า

มาตรา ๑๑ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

นายสุนทร หงส์ลดารมภ์ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง): รัฐบาลขอเสนอร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจปฏิบัติการเกี่ยวกับสมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศ พ.ศ. .... โดยมีหลักการดังนี้ หลักการ ให้รัฐบาลมีอำนาจปฏิบัติการเกี่ยวกับสมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศ เหตุผล โดยที่ประเทศไทยจะเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ช่วยเหลือในด้านพัฒนาการของประเทศสมาชิก จึงจำเป็นต้องออกกฎหมาย เพื่อให้อำนาจรัฐบาลปฏิบัติการเกี่ยวกับสมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศ ตามความตกลงว่าด้วยสมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศ เพื่อให้รัฐบาลถือประโยชน์จากการเป็นสมาชิก

กระผมขอถือโอกาสเรียนชี้แจงเพิ่มเติม เพื่อให้ท่านสมาชิกได้ทราบประกอบการพิจารณาบ้างเล็กน้อย ก่อนอื่น ท่านสมาชิกบางท่านอาจจะรู้สึกสงสัยเล็กน้อยในชื่อคำว่า สมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศ นี้ ทางกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่โดยตรง ได้พยายามแปลให้ตรงกับคำในภาษาอังกฤษซึ่งเรียกว่า International Development Association ความเป็นจริง เมื่อสรุปโดยสั้นที่สุดแล้ว ชื่อก็ไม่มีความสำคัญอะไร เพราะความจริง ก็คือ เป็นกองทุนอีกกองหนึ่งในเครือของธนาคารโลกนั่นเอง แต่ว่าในเครือของธนาคารโลกเดี๋ยวนี้ เรามีสถาบันการเงินอยู่ ๒–๓ แห่ง ๒–๓ ประการแล้ว บางอย่างเราก็เรียกว่า กองทุน คือ International Monetary Fund ซึ่งเราก็เป็นสมาชิกอยู่แล้ว แล้วอีกอันหนึ่งก็เรียกว่า International Finance Corporation คำย่อเรียกว่า I.F.C. ซึ่งเราก็เป็นสมาชิกอยู่แล้ว สมาคมนี้เกิดขึ้นก็ด้วยความเร่งเร้า