หน้า:ลักษณะการปกครองฯ - ดำรง - ๒๔๙๘.pdf/43

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๓๔

ส่งฟ้องกับตัวโจทก์ไปยังศาลนั้น ตุลาการศาลนั้นหมายเรียกตัวจำเลยมาถามคำให้การ แล้วส่งคำหา คำให้การ ไปปรึกษาลูกขุนให้ชี้สองสถาน คือว่า ข้อใดรับกันในสำนวน และข้อใดจะต้องสืบพยาน ตุลาการจึงไปสืบพยานตามคำลูกขุน ครั้นสืบเสร็จแล้ว ส่งสำนวนไปยังลูกขุน ลูกขุนชี้ว่า ฝ่ายไหนแพ้คดีเพราะเหตุใด ๆ ตุลาการก็นำคำพิพากษาไปส่งผู้ปรับ ผู้ปรับวางโทษว่า ควรจะปรับโทษเช่นนั้น ๆ ส่งให้ตุลาการไปบังคับ ถ้าคู่ความไม่พอใจในคำพิพากษา ถวายฎีกาได้ แต่การที่ถวายฎีกานั้น ผู้ถวายจำต้องระวังตัว ถ้าเอาความเท็จไปถวายฎีกา อาจจะถูกพระราชอาชญา เพราะเหตุนั้น จึงเป็นเครื่องป้องบกันมิให้ถวายฎีกาพร่ำเพื่อ

ศาลต่าง ๆ ตามธรรมเนียมโบราณมีเป็น ๔ ประเภท คือ ศาลความอาชญา ศาลความแพ่ง ๒ ประเภทนี้ขึ้นอยู่ในกระทรวงวัง ศาลนครบาลสำหรับชำระความโจรผู้ร้ายเสี้ยนหนามแผ่นดินขึ้นอยู่ในกระทรวงนครบาล นอกจากนี้ อีกประเภท ๑ เป็นศาลการกระทรวง คือ คดีเกิดขึ้นเนื่องในหน้าที่ราชการกระทรวงไหน ศาลกระทรวงนั้นได้พิจารณา ใช้วิธีพิจารณาดังกล่าวมาเหมือนกันหมดทุกศาล ศาลตามหัวเมืองก็อนุโลมตามวิธีศาลในกรุงฯ แต่ที่ประชุมกรมการทำการส่วนลูกขุน เพราอยู่ไกล จะส่งเข้ามาหารือในกรุงไม่สะดวก กับอีกอย่างหนึ่ง ในการปรับโทษผู้แพ้คดี ให้ส่งคำพิพากษาไปให้เมืองที่ใกล้เคียงกันเป็นผู้ปรับ ถ้าคู่ความไม่พอใจคำพิพากษา อาจอุทธรณ์เข้ามาได้ถึงเจ้ากระทรวงผู้บังคับบัญชาหัวเมืองนั้น ๆ ลักษณะปกครองทางตุลาการแต่โบราณเป็นดังแสดงมา