หน้า:สงวนของ - ดำรง - ๒๔๗๓.pdf/14

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๒
(๔)

ของโบราณนั้น ราชบัณฑิตยสภากำหนดเป็น ๒ ประเภท คือ ของซึ่งไม่พึงเคลื่อนที่ได้ เป็นต้นว่าเมืองและปราสาทราชวังวัดทั้งเทวาลัยตลอดจนบ่อกรุและสะพานหิน ของโบราณอย่างนี้กำหนดเป็นประเภท ๑ เรียกว่า “โบราณสถาน” ส่วนของโบราณซึ่งอาจเอาเคลื่อนที่ไปได้ เป็นต้นว่าศิลาจารึก พระพุทธรูป เทวรูป ตลอดจนเครื่องใช้เครื่องประดับต่าง ๆ เหล่านี้กำหนดเป็นประเภท ๑ เรียกว่า “โบราณวัตถุ” อนึ่ง ข้อซึ่งว่าเป็นของโบราณและมิใช่ของโบราณนั้น ราชบัณฑิตยสภากำหนดว่า ของมีอายุกว่าร้อยปีขึ้นไปเป็นของโบราณ ถ้ายังไม่ถึงร้อยปี ไม่นับว่าเป็นของโบราณ ที่เอาร้อยปีเป็นเกณฑ์ก็เป็นแต่สมมตเพื่อสดวกแก่การตรวจ เพราะของที่อายุยังไม่ถึงร้อยปีมีมาก และมักมีผู้รู้พอจะสืบเรื่องได้ไม่ยากเหมือนของที่เก่าก่อนนั้น แต่ราชบัณฑิตยสภามิได้ประสงค์จะสงวนบรรดาของโบราณทุกสิ่งไป เพราะพ้นวิสัยที่จะทำได้ อันของโบราณที่ถือว่าควรสงวนนั้นอยู่ในเกณฑ์ ๒ อย่าง คือ ที่เป็นของสำคัญในพงศาวดาร อย่าง ๑ กับที่เป็นของสำคัญในทางศิลปศาสตร์ คือ เป็นแบบอย่างและฝีมือช่าง อีกอย่าง ๑ จะยกอุทาหรณ์พอให้เห็น ในส่วนโบราณสถาน เช่น เมืองอู่ทองก็ดี หรือพระเจดีย์ซึ่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชโปรดให้สร้างไว้ที่ตำบลหนองสาหร่าย แขวงจังหวัดสุพรรณบุรี หมายที่ทรงชนช้าง