หน้า:หนังสือ ศย ๐๑๖-ว๑๔๖.pdf/2

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
ข้อพิจารณา
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๘) พ.ศ. ๒๕๖๔
มาตรา ๓๐๑ และมาตรา ๓๐๕
เรื่อง การกำหนดอายุครรภ์สำหรับความผิดฐานหญิงทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก และการเพิ่มเหตุยกเว้นความผิดฐานทำให้แท้งลูก
(ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ มีผลใช้บังคับวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔)

"มาตรา๓๐๑หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูกขณะมีอายุครรภ์เกินสิบสองสัปดาห์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

"มาตรา๓๐๕ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา ๓๐๑ หรือมาตรา ๓๐๒ เป็นการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภาในกรณีดังต่อไปนี้ ผู้กระทำไม่มีความผิด

(๑)จำเป็นต้องกระทำ เนื่องจากหากหญิงตั้งครรภ์ต่อไป จะเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายต่อสุขภาพทางกายหรือจิตใจของหญิงนั้น

(๒)จำเป็นต้องกระทำ เนื่องจากมีความเสี่ยงอย่างมากหรือมีเหตุผลทางการแพทย์อันควรเชื่อได้ว่า หากทารกคลอดออกมา จะมีความผิดปกติถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง

(๓)หญิงยืนยันต่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมว่า ตนมีครรภ์เนื่องจากมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ

(๔)หญิงซึ่งมีอายุครรภ์ไม่เกินสิบสองสัปดาห์ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์

(๕)หญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกินสิบสองสัปดาห์ แต่ไม่เกินยี่สิบสัปดาห์ ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ ภายหลังการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น"

เหตุผลของการประกาศใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๘) พ.ศ. ๒๕๖๔ คือ โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ ๔/๒๕๖๓ ลงวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ วินิจฉัยว่า บทบัญญัติความผิดฐานหญิงทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูกตามมาตรา ๓๐๑ เดิม ขัดหรือแย้งต่อมาตรา ๒๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เนื่องจากเป็นการมุ่งคุ้มครองสิทธิของทารกในครรภ์เพียงอย่างเดียว ทำให้หญิงไม่ได้รับความเป็นธรรม และถูกจำกัดสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย และสิทธิในการกำหนดเจตจำนงในการยุติการตั้งครรภ์หรือตั้งครรภ์ต่อไป การคุ้มครองสิทธิของทารกในครรภ์และสิทธิของหญิงตั้งครรภ์ต้องมีความสมดุล โดยนำอายุครรภ์มาเป็นเกณฑ์