เครื่องบูชาของไทย ถ้าว่าตามแบบแผน ใช้ของ ๔ สิ่งเป็นสำคัญ คือ เทียน ๑ ธูป ๑ เข้าตอก ๑ ดอกไม้ ๑ แต่ตามที่ใช้กันเป็นปกติในพื้นเมืองไทยทางฝ่ายใต้ เช่น ในกรุงเทพฯ นี้เป็นต้น ชอบใช้แต่ดอกไม้ธูปเทียน เข้าตอกหาใคร่ใช้ไม่ ส่วนไทยทางข้างเหนือ เช่น ในมณฑลพายัพ ชอบใช้แต่เทียนกับเข้าตอกดอกไม้ ธูปหาใช้ไม่ ที่ผิดกันเช่นนั้น สันนิษฐานว่า เดิมเห็นจะเป็นด้วยในท้องถิ่นหาของซึ่งลดเสียมิใคร่ได้สดวกเหมือน ๓ สิ่งซึ่งคงใช้อยู่ จึงมักลดเสียสิ่งหนึ่ง แล้วก็เลยติดเป็นประเพณีมา แต่เครื่องนมัสการของหลวงยังคงใช้ของ ๔ สิ่งตามแบบอยู่จนทุกวันนี้
เมื่อจะแต่งหนังสือนี้ ได้ลองสืบสวนหาต้นตำราว่า เหตุใดจึงใช้ของ ๔ สิ่งดังกล่าวมาเป็นเครื่องบูชา จะมีมูลมาแต่ที่ไหน ได้ความว่า ตามตำราพราหมณ์ในมัชฌิมประเทศแต่โบราณ มีกระบวนใช้เครื่องบูชาหลายอย่างมาก เครื่องบูชาทั้ง ๔ สิ่งที่ไทยใช้ก็มีอยู่ในตำราพราหมณ์ด้วยเหมือนกัน ถ้าจะลงเนื้อเห็นว่า ไทยได้ตำราเครื่องบูชามาแต่พราหมณ์ชาวมัชฌิมประเทศ ก็เห็นจะพอไปได้ แต่มีข้อประหลาดน่าพิสวงอยู่อย่างหนึ่งที่เครื่องบูชาของชาวประเทศอื่น เช่น จีนแลยี่ปุ่นก็ดี หรือที่ถือศาสนาอื่น เช่น พวกฝรั่งถือศาสนาคฤศต์อย่างลัทธิโรมันคาโธลิกก็ดี