หน้า:เครื่องมโหรีฯ - ดำรง - ๒๔๗๑.pdf/11

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

ของ ๒ สิ่งนั้นก็เพิ่มเข้าในเครื่องมะโหรีด้วย มะโหรีในชั้นหลังวงหนึ่งจึงเป็น ๑๔ คนคล้ายกับปี่พาทย์ เป็นแต่มะโหรีมีเครื่องสายและไม่ใช้กลอง และผิดกันเป็นข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่มะโหรีเป็นของผู้หญิงเล่น ปี่พาทย์เป็นของผู้ชายเล่นเป็นพื้น

ในรัชชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องเล่นละคอน การนั้นเป็นปัจจัยตลอดมาถึงการเล่นมะโหรี คือ เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีพระราชกำหนดห้ามมิให้ผู้อื่นหัดละคอนผู้หญง มีได้แต่ของหลวง เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีบริวารมาก เช่น เจ้านายและขุนนาง เป็นต้น จึงมักหัดผู้หญิงเป็นมะโหรี หัดผู้ชายเป็นละคอนและเป็นปี่พาทย์ เป็นประเพณีมา ครั้นถึงรัชชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้เลิกพระราชกำหนดนั้นเสีย พระราชทานอนุญาตว่า ใคร ๆ จะหัดละคอนผู้หญิง ก็ให้หัดได้ตามชอบใจ เมื่อมีพระบรมราชานุญาตดังนั้น การที่เคยหัดผู้หญิงเป็นมะโหรีก็ไปหัดเป็นละคอนเสียเป็นพื้น คนทั้งหลายชอบดูละคอนผู้หญิง ก็หาใคร่จะมีใครหัดมะโหรีผู้หญิงอย่างแต่ก่อนไม่

เมื่อมะโหรีผู้หญิงร่วงโรยลงครั้งนั้น ผู้ชายบางพวกซึ่งหัดเล่นเครื่องสายอย่างจีนจึงคิดกันเอาซอด้วง ซออู้ จะเข้ กับปี่อ้อ เข้าเล่นประสมกับเครื่องกลองแขก (สิ่งซึ่งจะอธิบายต่อเรื่องเครื่องปี่พาทย์ไปข้างหน้า) เครื่องประสมวงอย่างนี้เรียกกันว่า "กลองแขกเครื่องใหญ่"[1] 


  1. ข้าพเจ้าได้กล่าวในคำอธิบาย เรื่อง ประชุมบทมะโหรี ที่พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ ตามคำบอกเล่าว่า กลองแขกเครื่องใหญ่เกิดมีในรัชชกาลที่ ๓ แต่เมื่อพิจารณาต่อมาเห็นว่า จะเกิดขึ้นในตอนปลายรัชชกาลที่ ๔ ด้วยเมื่อตอนต้นรัชชกาลที่ ๕ ยังถือกันว่า เปนของเกิดมีขึ้นใหม่