หน้า:โฉมหน้าศักดินาไทย (9th ed).pdf/167

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
 ๑๙๔  โฉมหน้าศักดินาไทย

ในกรมนาจะออกสำรวจหรือเดินนาทุกๆ ปี ก่อนจะเก็บอากรค่านา แต่มาในสมัยหลังๆ มีการขัดแย้งกันมากๆ ขึ้น ก็มักเดินนากันเพียงรัชกาลละครั้งหรือสองครั้งเท่านั้น พวกเจ้าขุนมูลนายจึงได้ผลประโยชน์ช่ำใจขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้ เพราะนาที่บุกเบิกใหม่ยึดได้ใหม่ในระหว่างที่ไม่มีการสำรวจ ไม่ต้องเสียอากรให้กษัตริย์เลย ได้กินผลประโยชน์เต็มกอบเต็มกำอย่างสบายใจ

ครั้นในสมัยพระนารายณ์ กษัตริย์องค์นี้ลอกเลียนชีวิตในราชสำนักมาจากราชสำนักอันฟุ่มเฟือยหรูหราของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นพระปิยสหาย ถึงกับไปสร้างเมืองลพบุรีขึ้นเป็นเมืองพักร้อนเลียนแบบพระราชวังแวร์ซายส์ของหลุยส์ที่ ๑๔ เงินทองในราชสำนักจึงฝืดเคือง การเก็บอากรหางข้าวจึงได้ถูกเปลี่ยนมาเก็บเป็นเงิน โดยเก็บไร่ละสลึงรวด เก็บทั้งนาที่ทำและนาที่ไม่ได้ทำ โดยถือเนื้อที่นาในครอบครองเป็นเกณฑ์ อัตราที่เก็บไร่ละสลึงนี้ ถ้าคิดเทียบว่าราคาข้าวสมัยนั้น โดยประมาณเกวียนละ ๑๐-๑๒ บาท ราคาข้าวก็ตกถังละ ๑๐-๑๒ สตางค์ อากรที่เก็บไร่ละ ๒๕ สตางค์ของพระนารายณ์จึงตกเป็นข้าวเปลือกราว ๒ ถังต่อไร่ ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับที่ใช้มาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ (๑ ไร่ทำนาได้ผลราว ๒๐-๓๐-๔๐ ถังเป็นอย่างสูง)

อัตราการเก็บไร่ละสลึงของพระนารายณ์สมัยนั้น มิได้ขูดรีดแพงขึ้นกว่าเดิม หากมีวิธีเก็บที่เข้มงวด คือเก็บทั้งนาที่ทำและไม่ทำ ใครมีนามากก็เสียมาก เหตุผลที่ให้ไว้ก็คือเพื่อที่จะให้เจ้าของนามีมานะบากบั่นทำนาให้เต็มเนื้อที่ แต่พวกเจ้าที่ดินส่วนมากไม่เห็นด้วยและไม่พอใจ การเก็บจึงเก็บได้เฉพาะบางส่วนของประเทศคือเฉพาะในเมืองที่พระนารายณ์มีอำนาจบังคับบัญชาสมบูรณ์เท่านั้น (Du Royaume de Siam ของลาลูแบร์)