ข้ามไปเนื้อหา

หน้า:โฉมหน้าศักดินาไทย (9th ed).pdf/193

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
 ๒๒๐  โฉมหน้าศักดินาไทย

มีภาษีตั้งใหม่ทั้งสิ้น ๓๘ อย่าง ถึงรัชกาลที่ ๔ มีเพิ่มขึ้นอีกเป็น ๕๒ อย่าง (ผู้สนใจเชิญดูรายละเอียดใน ลัทธิธรรมเนียมต่างๆ ภาคที่ ๑๖ ตำนานภาษีอากรบางอย่าง" ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ)

การผูกขาดภาษี

การเก็บอากรต่างๆ ก็ดี การเก็บจังกอบจากสินค้าก็ดี ในสมัยหลังๆ นี้ ได้เริ่มมีการผูกขาดกันขึ้น ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่าง "ชนชั้นศักดินาผู้ทำการผูกขาดการค้าภายนอก" กับ "ชนชั้นกลาง (ซึ่งกำลังเติบโต) ผู้ทำการผูกขาดการค้าภายใน" การขูดรีดจึงได้งอกเงยจากการขูดรีดภาษีเพียงชั้นเดียวจากชนชั้นศักดินา กลายมาเป็นการขูดรีดสองชั้น โดยการร่วมมือของชนชั้นกลาง

การผูกขาดภาษีนี้ ทำให้ประชาชนเดือดร้อนมากเพราะมิได้จำกัดวงอยู่แต่เพียงอย่างสองอย่าง หลังจากรัชกาลที่ ๓ ลงมาเกิดการผูกขาดภาษีขึ้นมากมายหลายประเภท รัชกาลที่ ๓ กำลังตั้งหน้าตั้งตาสร้างวัดวาอารามอย่างขนานใหญ่ เงินทองกำลังเป็นสิ่งที่ต้องการ จึงได้ยอมรับข้อเสนอและเงื่อนไขในการผูกขาดภาษีของพวกชนชั้นกลางอย่างดีอกดีใจเสมอมา พวกชนชั้นกลางหรือนักผูกขาดก็คอยจ้อง พอเห็นของชนิดใดเกิดมีขึ้นพอจะเป็นสินค้าซื้อขายกันได้ พวกนักผูกขาดพวกนี้ ก็จะพากันเดินเรื่องราวเข้าเส้นนอกออกเส้นใน ขอผูกขาดเก็บภาษีส่งหลวง โดยตั้งราคาให้ปีละเท่านั้นเท่านี้ ยิ่งกว่านั้นพวกเดินเรื่องขอผูกขาดนี้จะต้องจับเส้นถูกว่าใครบ้างกำลังมีอำนาจ ใครบ้างที่กำลังเป็นเสือนอนกิน เมื่อสืบรู้ได้แล้วก็จะเสนอเงื่อนไขที่แบ่งผลประโยชน์ให้แก่ผู้ยิ่งใหญ่เสือนอนกินทุกคนอย่างทั่วถึงมากบ้างน้อยบ้างตามขนาดของอิทธิพล (ดังที่ได้เล่ามาแล้วในตอนที่ว่าด้วยอากรค่าน้ำ) เมื่อทางฝ่ายศักดินาอนุญาตยอมรับ