ข้ามไปเนื้อหา

หน้า:Constitutional imperialism in Japan (IA constitutionalim00clemrich).pdf/54

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
44
[เล่ม 6
ระบอบจักรพรรดิภายใต้รัฐธรรมนูญในญี่ปุ่น

ปี 1914 หลังจากสนับสนุนคณะรัฐมนตรียามาโมโตะ พวกเขาเหล่านั้นก็ต้องเสี่ยงถูกประณามหยามเหยียดในทางส่วนตัวจนยับเยินคามือผู้ชุมนุม และต้องได้รับการคุ้มกันเป็นพิเศษมิให้ถูกประทุษร้าย ฉะนั้น จึงจริงแท้ทีเดียวที่ผู้คนเป็นได้ทั้งผู้ทุบทำลายรูปเคารพและผู้เชิดชูบูชาวีรชน

ไม่จำต้องเจียระไนให้มากความว่า ความคิดเห็นสาธารณะในญี่ปุ่นคงจะรุนแรงน้อยลง และเป็นปรกติมากขึ้น และมีอิทธิพลสูงยิ่งขึ้นไปอีก ถ้าประชาชนที่ได้สิทธิเลือกตั้งนั้นมีจำนวนมากขึ้น เป็นความจริงที่ว่า ในรอบ 25 ปีนี้ จำนวนผู้เลือกตั้งเพิ่มขึ้นอย่างยิ่งยวด ดังที่อาจเห็นได้จากสถิติดังต่อไปนี้[1]

ปี 1890 . . . . . . . . . . 453,474 คน
ปี 1892 . . . . . . . . . . 460,914 คน
ปี 1894 . . . . . . . . . . 464,278 คน
ปี 1896 . . . . . . . . . . 467,607 คน
ปี 1898 . . . . . . . . . . 501,459 คน
ปี 1902 . . . . . . . . . . 983,193 คน
ปี 1904 . . . . . . . . . . 757,788 คน
ปี 1908 . . . . . . . . . . 1,582,676 คน
ปี 1912 . . . . . . . . . . 1,503,968 คน
[ปี 1915 . . . . . . . . . . 1,546,241 คน]

การเพิ่มขึ้นในปี 1902 นั้น เป็นเพราะลดคุณสมบัติด้านทรัพย์สินลง[2] การลดลงในปี 1904 นั้น เป็นเพราะลดภาษีที่ดินลง การเพิ่มขึ้นในปี 1908 นั้น เป็นเพราะขยายสิทธิเลือกตั้งออกไปถึงฮกไกโดและเขตชุมชนเมืองใหม่ ๆ หลายแห่ง ส่วนการเพิ่มขึ้นในปี 1915 นั้น เป็นเพราะขยายสิทธิออกไปถึงจังหวัดโอกินาวะ

ลักษณะเด่นประการหนึ่งซึ่งน่าหดหู่ใจ คือ ผู้เลือกตั้งหลายต่อหลายคนไม่ออกไปใช้เอกสิทธิ์ของตน การแก้ไขในเรื่องนี้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ย่อมจะเกิดขึ้นจากการก่อตั้งรัฐบาลแบบมีพรรคและการขยายสิทธิออกไปในวงกว้างขึ้น การเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 1915 แสดงให้เห็นทีเดียวว่า เกิดการแก้ไขปรับปรุงอย่างชัดเจน ขณะที่อัตราเฉลี่ยของผู้ไม่ไปออกเสียงลงคะแนนในปี 1898 นั้น คิดได้เป็นเกือบร้อยละ 12 ของผู้เลือกตั้งทั้งหมด ในปี 1903 และ 1904 คิดได้เป็นเกือบร้อยละ 14 ในปี 1908 เกินร้อยละ 14 และในปี 1912 เป็นเกือบร้อยละ 10.1 แต่ในปี 1915 เป็นเพียงร้อยละ 8 ตัวเลขเหล่านี้บ่งบอกอะไรได้มากพอดู

  1. หนังสือรายปีญี่ปุ่น ประจำปี 1912 และ 1914
  2. หมายถึง การกำหนดคุณสมบัติโดยอิงทรัพย์สินที่ถือครองอยู่ ดู property qualification (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
(364)