หน้า:Constitutional imperialism in Japan (IA constitutionalim00clemrich).pdf/53

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
9. ความคิดเห็นสาธารณะ

ขั้นตอนหนึ่งที่มีนัยสำคัญที่สุดในความก้าวหน้าทางการเมืองอันดำเนินไปในญี่ปุ่นใหม่ในช่วงรัฐธรรมนูญนิยม 25 ปีที่ผ่านมานั้น คือ พัฒนาการในการออกความคิดเห็นสาธารณะแบบโจ่งแจ้ง จากมุมมองหนึ่ง ในช่วงที่ใช้ระบบเจ้าขุนมูลนายนั้น ไม่เคยมีความคิดเห็นแบบสาธารณะเลย หรือมากที่สุดก็เป็นแต่ในขอบเขตของเรื่องนั้น ๆ ซึ่งค่อนข้างคับแคบและอยู่ในระดับท้องถิ่น ทว่า เมื่อมีการให้สิทธิและเอกสิทธิ์แก่ประชาชน กับทั้งการเผยแผ่การศึกษา และการที่สื่อสิ่งพิมพ์ทวีความสำคัญและอำนาจมากขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกัน ก็คือ ความคิดเห็นสาธารณะมีวิวัฒนาการเป็นที่น่าพอใจยิ่งนัก จริงอยู่ว่า "และน่าเศร้าจังที่มันจริงอยู่" ว่า การแสดงความเห็นเช่นนั้นอย่างเด่นชัดที่สุดมักปรากฏผ่านความรุนแรงของฝูงผู้ชุมนุม แต่แม้เรื่องอย่างนั้นจะเป็นของคู่กันซึ่งน่าเศร้าแต่ก็คงเลี่ยงไม่ได้ก็ตามที ความคิดเห็นสาธารณะดังที่แสดงออกในสื่อสิ่งพิมพ์และตามแท่นปราศรัยนั้นจะเมินเฉยอีกต่อไปมิได้ หากแต่ต้องนำมาพิจารณาทุกครั้งไป และแม้จะมี "สื่อสีเหลือง"[1] แต่สื่อสิ่งพิมพ์ญี่ปุ่นก็คงเป็นผู้สรรค์สร้างและป่าวประกาศความคิดเห็นสาธารณะที่ใช้การได้

ที่คณะรัฐมนตรีคัตสึระ[2] มีชีวิตราชการอยู่ได้ 2 เดือนก็ล่มจมไปในเดือนกุมภาพันธ์ 1913 นั้น ก็มิใช่เพราะอื่นใดนอกจากความคิดเห็นสาธารณะ ซึ่งเรื่องนี้หากจะมีใครสงสัยสงกาก็คงมีแต่เพียงประปราย และข้อที่ว่า คณะรัฐมนตรียามาโมโตะ[3] ต้องรับผิดชอบเรื่องอื้อฉาวของกองทัพเรือ[4] จนต้องออกจากอำนาจไปทั้งคณะในเดือนมีนาคม 1914 แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีเสียงสนับสนุนจากเซยูไก[5] พร้อมเสียงข้างมากอย่างใหญ่โตอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรก็ตามนั้น ก็เพราะความคิดเห็นสาธารณะดุจเดียวกัน และเป็นความคิดเห็นสาธารณะนี้เองที่อุ้มชูให้คณะรัฐมนตรีโอกูมะ[6] อยู่รอดมาได้หลายเดือนผ่านเสียงข้างมากที่ไม่เป็นใจของเซยูไกเหล่านั้น จนสุดท้ายในการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 1915 ก็เป็นอันล้มกระดานได้ทั้งแถบ และเป็นผลให้โอกูมะได้เสียงข้างมากอย่างล้นหลาม ก็เป็นธรรมดาอยู่ที่ความคิดเห็นสาธารณะนั้นคงจะเอาแน่เอานอนไม่ได้เสียทีเดียว และบางทีก็ไม่ยุติธรรมเสียอีก ในปี 1913 สมาชิกฝ่ายเซยูไกในสภาผู้แทนราษฎรเป็นที่เทิดทูนบูชาของประชาชนเนื่องจากได้แสดงการต่อต้านอย่างแข็งขันต่อคัตสึระ แต่พอ

  1. สื่อที่ขายข่าวแบบโลดโผนและเกินจริง ดู yellow journalism (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  2. คณะรัฐมนตรีชุดที่ 3 ที่มีคัตสึระ ทาโร เป็นนายกรัฐมนตรี ดู Third Katsura Cabinet (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  3. คณะรัฐมนตรีชุดแรกที่มียามาโมโตะ กนโนเฮียวเอะ เป็นนายกรัฐมนตรี ดู First Yamamoto Cabinet (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  4. เรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการสมยอม (ฮั้ว) กันจัดซื้อจัดจ้าง ดู Siemens scandal (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  5. กลุ่มการเมืองที่เรียกว่า ริกเก็งเซยูไก ดู Rikken Seiyūkai (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  6. คณะรัฐมนตรีชุดที่ 2 ที่มีโอกูมะ ชิเงโนบุ เป็นนายกรัฐมนตรี ดู Second Ōkuma Cabinet (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
(363)