หน้า:Das Kapital Kritik der politischen Oekonomie Erster Band.djvu/66

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
——26——

ในขั้นแรก อาริสโตเติลกล่าวไว้อย่างชัดเจน ว่ารูปเงินตราของสินค้าเป็นเพียงร่างที่พัฒนาขั้นไปอีกขั้นของรูปมูลค่าแบบเรียบง่าย กล่าวคือการแสดงออกมูลค่าของสินค้าอย่างหนึ่งเป็นสินค้าอย่างอื่นอย่างใดตามอำเภอใจ เขากล่าวว่า:
„เตียง 5 ตัว บ้าน 1 หลัง“ („Κλίναι πέντε ἀντὶ οἰκίας“)
„ไม่แตกต่าง“ จาก:
„เตียง 5 ตัว เงินตราเท่าใดเท่าหนึ่ง“
(„Κλίναι πέντε ἀντὶ … ὅσου αἱ πέντε κλίναι“)

เขาพิเคราะห์ต่อว่า ความสัมพันธ์มูลค่าซึ่งมีการแสดงออกมูลค่าดังนี้จะตั้งเงื่อนไขกับตัวเอง ว่าบ้านเสมอกับเตียงในเชิงคุณภาพ และสิ่งของที่แตกต่างกันทางโลกเหล่านี้ไม่สามารถสัมพันธ์กันในฐานะขนาดที่ตวงวัดเทียบกันได้หากไร้ซึ่งความเสมอภาคในเชิงสารัตถะเยี่ยงนั้น „การแลกเปลี่ยน“ เขากล่าว „เป็นไปไม่ได้หากไร้ซึ่งความเสมอภาค ทว่าความเสมอภาคเป็นไปไม่ได้ หากไร้ซึ่งความสามารถตวงวัดเทียบกันได้“ („οὔτ’ ἰσοτης μὴ οὔσης συμμετρίας“) แต่ถึงนี่แล้ว เขากลับตัดจบ และเลิกวิเคราะห์รูปมูลค่าต่อ „ทว่าแท้จริงแล้วไม่น่าเป็นไปได้ („τῇ μὲν οὖν ἀληθείᾳ ἀδύνατον“) ที่สิ่งของต่างชนิดจะสามารถตวงวัดเทียบกันได้“ คือมีคุณภาพเหมือนกัน ความเสมอกันนี้พิลึกเกินจะเป็นธรรมชาติแท้จริงของมัน จึงเป็นแค่ „การแก้ขัดตามจำเป็นในทางปฏิบัติ“

ดังนั้น อาริสโตเติลเองบอกเราว่าเขาล้มเหลวที่จะเดินหน้าวิเคราะห์ต่อเพราะขาดมโนทัศน์ของมูลค่า อะไรหรือที่เท่ากัน อะไรหรือเป็นแก่นสารที่มีร่วมกัน บ้านแสดงเป็นอะไรให้กับเตียงหรือ ในการแสดงออกมูลค่าของเตียง? อาริสโตเติลบอกว่าสิ่งนี้ „แท้จริงไม่มีอยู่“ ทำไมเล่า? บ้านแสดงเป็นสิ่งที่เสมอกันให้กับเตียง ตราบที่แสดงเป็นสิ่งที่เสมอกันจริง ๆ ในทั้งสองอย่าง ทั้งในเตียงและบ้าน สิ่งนี้คือ —— แรงงานมนุษย์

แต่อาริสโตเติลอ่านจากรูปมูลค่าไม่ออก ว่าในรูปมูลค่าสินค้า แรงงานทั้งปวงแสดงออกเป็นแรงงานมนุษย์ที่เท่ากัน และจึงนับว่าเสมอกัน เพราะสังคมกรีกตั้งอยู่บนแรงงานทาส จึงมีรากฐานธรรมชาติบนความไม่เท่าเทียมกันของมนุษย์ และฉะนั้นของพลังแรงงานมนุษย์

ความลับของการแสดงออกมูลค่า กล่าวคือความเสมอภาคและความชอบเท่ากันของแรงงานทั้งปวง เพราะและตราบที่เป็นแรงงานมนุษย์โดยทั่วไป จึงสามารถไขออกมาได้ต่อเมื่อมโนทัศน์ความเท่าเทียมกันของมนุษย์คงอยู่มั่นคงสถาพรแล้วไม่แพ้อคติเดียดฉันท์ที่ยังมีอยู่แพร่หลาย แต่จะเป็นเช่นนั้นได้เฉพาะในสังคมที่รูปสินค้าเป็นสากลรูปของผลผลิตแรงงาน และฉะนั้นเมื่อความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในฐานะ