๑.๒ การกล่าวว่าพระไตรปิฎกประมาณร้อยละ ๒๐ เชื่อถือไม่ได้ โดยไม่ได้ระบุว่าหมายถึงปิฎกใดจะทำให้เกิดปัญหาความเคลือบแคลงสงสัย หากหมายถึงพระวินัยปิฎก จะเกิดข้อคำถามว่า ในสิกขาบท ๒๒๗ ข้อ มีข้อใดที่เชื่อไม่ได้ ปาราชิก ๔ ที่ภิกษุล่วงละเมิดแล้วขาดจากความเป็นภิกษุ นับเข้าในร้อยละ ๒๐ นั้นหรือไม่ และย่อมเป็นการขัดแย้งกับมติที่ประชุมพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ ซึ่งมีพระมหากัสสปเถระเป็นองค์ประธานในครั้งปฐมสังคายนา โดยปรากฏหลักฐานในพระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗ จุลวรรค ภาค ๒ ดังนี้
"สุณาตุ เม อาวุโส สงฺโฆ ... สงฺโฆ อปฺปญฺญาตํ น ปญญาเปติ ปญฺญาต น สมุจฺฉินฺทติ ยถาปญฺญตฺเตสุ สิกฺขาปเทสุ สมาทาย วตฺตติ ขมติ สงฺฆสุส ตสฺมา ตุณหี เอวเมตํ ธารยามิ แปลความว่า ท่านทั้งหลาย ขอสงฆ์โปรดฟังข้าพเจ้า...สงฆ์ ไม่บัญญัติสิ่งที่ไม่ทรงบัญญัติ ไม่เพิกถอนพระบัญญัติที่ทรงบัญญัติแล้ว สมาทานประพฤติในสิกขาบททั้งหลายตามที่ทรงบัญญัติแล้ว สงฆ์เห็นชอบมติดังกล่าวนี้ ดังนั้น จึงนิ่งเฉย ข้าพเจ้าขอทรงจำมติสงฆ์เห็นชอบนี้ไว้ ด้วยอาการอย่างนี้"
หากหมายถึงพระสุตตันตปิฎก ก็จะเกิดข้อคำถามและข้อขัดแย้งลักษณะเดียวกันกับพระวินัยปิฎก
หากหมายถึงพระอภิธรรมปิฎก ก็จะขัดแย้งกับอรรถกถาธรรมสังคณีปกรณ์ ดังที่ปรากฏคำบาลีว่า อภิธมฺมํ ปฏิพาหนฺโต อิมสฺมึ ชินจกุเก ปหารนุเทติ สพฺพญฺญุตญาณํ ปฏิพาหติ สตฺถุ เวสารชฺชญาณํ ปฏินิวตฺเตติ โส ตุกามํ ปริสํ วิสํวาเทติ อริยมคฺเค อาวรณํ พนฺธติ อฏฺฐารสสุ เภทกรวตฺถูสุ เอเกกสฺมึ สนฺทิสฺสติ แปลความว่า ผู้คัดค้านพระอภิธรรม ชื่อว่าให้การประหารในชินจักรนี้ ชื่อว่าคัดค้านพระสัพพัญญุตญาณ ชื่อว่าดูหมิ่นเวสารัชชญาณของพระศาสดา ชื่อว่าหลอกลวงพุทธบริษัทผู้ประสงค์จะฟัง ชื่อว่าผูกเครื่องกั้นอริยมรรค จักปรากฏในเภทกรวัตถุ (เรื่องที่สร้างความแตกแยก) ๑๘ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง
๑.๓ คณะสงฆ์เถรวาท มีจารีตถือสืบต่อกันมาแต่ครั้งปฐมสังคายนาจวบถึงปัจจุบันว่า พระไตรปิฎกเป็นคัมภีร์สำคัญสูงสุด จะก้าวล่วงโดยประการใด ๆ มิได้ เพราะพระไตรปิฎกเปรียบเสมือนตัวแทนองค์พระบรมศาสดาเนื่องด้วยพระธรรมวินัยที่ทรงแสดงและทรงบัญญัติไว้ปรากฏโดยพระพุทธดำรัสว่า อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา นั้น ได้รับการสังคายนารวบรวมเรียบเรียงไว้ในคัมภีร์ที่เรียกว่าพระไตรปิฎก
๑.๔ สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าทุกพระองค์ ทรงรับเป็นพระราชธุระในอันที่จะธำรงรักษาพระไตรปิฎกและคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นหลักพระศาสนา กล่าวโดยเฉพาะในพุทธศักราช ๒๕๒๘ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดให้มีการสังคายนาตรวจชำระพระไตรปิฎกซึ่งได้ดำเนินการเสร็จสิ้น ในพุทธศักราช ๒๕๓๐ อันเป็นศุภวารดิถีมหามงคล ที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๕ รอบ ซึ่งในโอกาสนี้ได้จัดให้มีการพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับสมบูรณ์ออกเป็นฉบับบาลีอักษรไทยและฉบับแปลเป็นภาษาไทย