อธิบายว่าด้วยยศเจ้า (2472)

จาก วิกิซอร์ซ
ดูฉบับอื่นของงานนี้ที่ อธิบายว่าด้วยยศเจ้า
ตราของราชบัณฑิตยสภา
ตราของราชบัณฑิตยสภา
อธิบายว่าด้วยยศเจ้า
พระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ
ทรงพระนิพนธ์
พิมพ์ในงานพระกฐินพระราชทาน
พระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ
ณวัดระฆังโฆสิตาราม
เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๒
โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร


ยศเจ้านายในราชสกุลมี ๒ ประเภท สกุลยศ คือ ยศที่เกิดเป็นเจ้านายชั้นใด ประเภท ๑ อิสสริยยศ คือ ยศที่สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงสถาปนาตั้งแต่งในทางราชการ ประเภท ๑ จะอธิบายทีละประเภทเป็นลำดับกันไป สกุลยศของเจ้านายนั้น บรรดาผู้ที่เกิดมาในราชตระกูล จะเป็นราชบุตร ราชธิดา หรือราชนัดดาก็ตาม ย่อมเรียกว่า เจ้า อันคำว่า เจ้า นี้ ถือเป็นเกียรติยศของราชตระกูลไทยมาแต่ดึกดำบรรพ์ ได้พบในหนังสือเก่าใช้เรียกว่า เจ้า มาตั้งแต่ไทยยังตั้งประเทศรวมกันอยู่ในเมืองจีนข้างฝ่ายใต้ ถ้าประมวลเวลาจนบัดนี้ก็กว่า ๑๐๐๐ ปี ถึงในปัจจุบันทุกวันนี้ บรรดาชนที่เป็นชาติไทย จะเป็นไทยใหญ่ไทยน้อยอย่างไรก็ตาม ยังใช้คำว่า เจ้า เป็นยศของราชตระกูลอยู่เหมือนกันทั่วไป ต่างกันแต่การที่จะจัดลำดับเป็นเจ้าชั้นสูงชั้นต่ำ ย่อมจัดตามลัทธิของประเทศไม่เหมือนกัน จะกล่าวแต่ส่วนในสยามประเทศเท่าที่ได้พบในหนังสือเรื่องต่าง ๆ บางทีจะพลาดพลั้งบ้าง ขอท่านผู้อ่านจงฟังแต่พอเป็นเค้าเถิด

เจ้าที่สกุลยศเป็นชั้นสูงนั้น เรียกว่า เจ้าฟ้า ที่มาใช้เป็นราชสกุลยศ เห็นจะมาแต่คติเดิมของไทยเรียกเทวดาว่า ผีฟ้า จึงเรียกเจ้านายของตนว่า เจ้าฟ้า ตรงกับเช่นเรียกว่า สมมติเทวราช เข้าใจว่า เป็นยศซึ่งเกิดขึ้นทางเมืองไทยใหญ่ก่อน แต่เดิมใช้เรียกแต่เจ้าผู้เป็นพระราชาครองเมืองเช่นเดียวกับคำว่า ขุน หรือ ขุนหลวง นั้นเอง เจ้าผู้ครองเมืองไทยใหญ่แลเมืองเถิน เมืองลื้อ ทุกวันนี้ก็เรียกกันว่า เจ้าฟ้า เช่น เจ้าฟ้าหมอกใหม่ เจ้าฟ้าเชียงตุง เจ้าฟ้าเชียงรุ้ง เป็นต้น ยศเจ้าฟ้าที่มาปรากฏขึ้นในสยามประเทศมีในหนังสือพงศาวดารเหนือว่า เมื่อพระเจ้าจันทโชตครองเมืองละโว้ มีเชษฐภคินีทรงพระนาม เจ้าฟ้าแก้วประพาฬ พระมเหษีทรงพระนาม เจ้าฟ้าปฏิมาสุดาดวงจันทร ดังนี้ แต่ข้าพเจ้าเชื่อว่า ผู้แต่งหนังสือพงศาวดารเหนือในชั้นหลังเอาคำว่า เจ้าฟ้า เติมลงโดยพลการ ไม่เป็นความจริงในทางพงศาวดาร ความจริงจะเป็นอย่างที่สอบสวนได้ความในหนังสือพงศาวดารพะม่าว่า พึ่งมียศเจ้าฟ้าปรากฏในสยามประเทศนี้เมื่อ พ.ศ. ๒๑๑๑ ครั้งนั้น พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองเอาแบบยศเมืองประเทศราชไทยใหญ่ที่ขึ้นเมืองหงสาวดีมาตั้งสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช แต่ยังครองเมืองพิษณุโลก เป็นเจ้าฟ้าสองแคว คำว่า สองแคว เป็นชื่อเดิมของเมืองพิษณุโลก พระนาม เจ้าฟ้าสองแคว นั้น แปลตรงกับอย่างที่เราเรียกทุกวันนี้ก็ว่า พระเจ้าพิษณุโลก เป็นนามตำแหน่งผู้ครองเมืองประเทศราช ต่อนั้นมา ปรากฏในหนังสือราชการไทยที่ใช้คำ เจ้าฟ้า เป็นครั้งแรกในพระราชกฤษฎีกาของสมเด็จพระเอกาทศรถ อยู่ในกฎหมายลักษณขบถศึก ตั้งเมื่อปีมะเส็ง จุลศักราช ๙๕๕ ภายหลังสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชหงสาวดีปี ๑ ในพระราชกฤษฎีกานั้นเรียกพระนามสมเด็จพระนเรศวรว่า สมเด็จบรมบาทบงกชลักษณ์อัครบุริโสดม บรมหน่อนรา เจ้าฟ้านเรศวร์เชษฐาธิบดี ดังนี้ คำ เจ้าฟ้า ในที่นี้ก็แปลว่า เป็นพระเจ้าแผ่นดินอีก ที่มาใช้คำ เจ้าฟ้า เป็นสกุลศักดิ์สำหรับพระราชกุมาร ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารเป็นครั้งแรกในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ เรียกพระราชโอรสว่า เจ้าฟ้าสุทัศน์ เจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์ ก่อนนั้นขึ้นไป แม้ในกฎมณเฑียรบาลที่กล่าวถึงราชกุมารศักดิ์ ก็มิได้ปรากฏคำว่า เจ้าฟ้า ต่อชั้นหลัง เห็นจะตั้งแต่แผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง จึงได้มีกำหนดแน่นอนว่า ถ้าพระราชโอรสธิดาที่พระมารดาเป็นเจ้า มีราชสกุลยศเป็นเจ้าฟ้า เจ้าฟ้ายังมีอีกชั้นหนึ่งซึ่งเป็นพระราชนัดดา ถ้าพระมารดาเป็นเจ้าฟ้า พระโอรสธิดาก็เป็นเจ้าฟ้าตามอย่างพระมารดา ประเพณีอันนี้ปรากฏครั้งแรกในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ครั้งแผ่นดินพระเจ้าท้ายสระ คือ เจ้าฟ้าสังวาลย์ และเจ้าฟ้าจีด พระบิดาทรงพระนามว่า พระองค์เจ้าแก้ว พระเจ้าลูกเธอในสมเด็จพระเพ็ทราชา แต่เจ้าฟ้าเทพ พระราชธิดาสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ เป็นพระมารดา ในชั้นกรุงรัตนโกสินทรนี้ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แลพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เป็นเจ้าฟ้ามาแต่เสด็จสมภพในรัชชกาลที่ ๑ เพราะสมเด็จพระศรีสุริเยนทร์ พระบรมราชชนนี เป็นเจ้าฟ้า

ราชสกุลยศรองแต่เจ้าฟ้าลงมาเป็นพระองค์เจ้า พระองค์เจ้ามีหลายชั้น ชั้นสูง คือ พระราชบุตรพระราชธิดาอันเกิดด้วยพระสนม ตรงกับที่เรียกในกฎมณเฑียรบาลว่า พระเยาวราช ชั้นรองลงมา ราชนัดดาซึ่งมารดาเป็นพระองค์เจ้า ก็ย่อมเป็นพระองค์เจ้าด้วย เมื่อมาถึงชั้นกรุงรัตนโกสินทรนี้ บรรดาพระโอรสธิดาของพระมหาอุปราช โปรดฯ ให้มียศเป็นพระองค์เจ้าทั้งนั้น พระโอรสธิดาเจ้าฟ้าฉะเพาะที่เกิดด้วยพระอัครชายา โปรดฯ ให้เป็นพระองค์เจ้า รองแต่ชั้นนี้ลงมา ถึงพระองค์เจ้าตั้ง คือ หม่อมเจ้าซึ่งเลือกสรรค์สถาปนาเป็นพระองค์เจ้าโดยฉะเพาะพระองค์

ราชสกุลยศรองแต่พระองค์เจ้าลงมา ถึงชั้นหม่อมเจ้า เป็นยศสำหรับโอรสธิดาของเจ้าฟ้าและพระองค์เจ้า และมารดามิได้เป็นพระองค์เจ้า เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา แม้พระโอรสธิดาพระมหาอุปราช ถ้ามารดามิได้เป็นเจ้า ก็เป็นแต่เพียงหม่อมเจ้า เช่น หม่อมเจ้าอาทิตย ในกรมพระราชวังบวรเสนาพิทักษ์ ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ เป็นตัวอย่าง มีปรากฏอยู่ในคำจารึก

เจ้าราชนิกูล คือ เจ้ารามฆพ เจ้าทศเทพ เป็นต้น ซึ่งเป็นยศมีมาเก่าแก่ ข้าพเจ้าเข้าใจว่า เดิมยศเห็นจะเสมอกับหม่อมเจ้า ทำนองเป็นหม่อมเจ้าตั้ง มาเปลี่ยนเป็นหม่อม เช่น หม่อมราโชทัย เป็นต้น เมื่อในรัชชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทรนี้เอง

ราชสกุลยศชั้นราชปนัดดา คือ บุตรธิดาของหม่อมเจ้า เป็นหม่อมราชวงศ์ ในทำเนียบศักดินาพลเรือนก็มี แต่สงสัยว่า จะเป็นของเติมเข้าใหม่ เพราะคำว่า หม่อมราชวงศ์ พึ่งใช้ในรัชชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทรนี้เอง แต่ก่อนเรียกกันว่า เจ้า บ้าง คุณ บ้าง ครั้งกรุงศรีอยุธยาจะเรียกว่ากระไร ไม่ปรากฏ

บุตรธิดาหม่อมราชวงศ์ มียศเป็นหม่อมหลวง คำว่า หม่อมหลวง นั้น พบในประกาศรัชชกาลที่ ๔ ซึ่งห้ามมิให้เรียกหม่อมราชวงศ์ว่าเจ้า มีในประกาศนี้แห่ง ๑ ว่า “หม่อมราชวงศ์ที่ในข้าราชการ เรียกว่า หม่อมหลวง ที่ไพร่ ก็เรียกว่า เจ้า” ดังนี้ ประกาศลงวันศุกร เดือนอ้าย ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีชวด ฉศก ศักราช ๑๒๒๖ (พ.ศ. ๒๔๐๗) ตามความในประกาศนั้น ดูเป็นหม่อมหลวงเป็นชั้นเดียวกับหม่อมราชวงศ์ ครั้นมาในรัชชกาลที่ ๕ ลดลงมาเป็นราชสกุลชั้นต่ำ ใช้เรียกบุตร์หม่อมราชวงศ์สืบมาจนบัดนี้

ส่วนอิสสริยศ คือ ยศที่พระเจ้าแผ่นดินทรงสถาปนาเจ้านายให้มีศักดิสูงขึ้นนั้น ชั้นสูงสุด คือ ตำแหน่งพระมหาอุปราช คือ ผู้ที่จะรับรัชชทายาทสืบพระวงศ์

ในกฎมณเฑียรบาลซึ่งตั้งเมื่อแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถบัญญัติว่า พระราชกุมารอันเกิดด้วยพระอัครมเหษีเป็นสมเด็จหน่อพุทธเจ้า พระราชกุมารอันเกิดแต่แม่หยั่วเมืองเป็นพระมหาอุปราช ที่กล่าวไว้ในกฎมณเฑียรบาลดังนี้ ข้าพเจ้าเข้าใจว่า หมายความว่า พระราชกุมารซึ่งพระเจ้าแผ่นดินจะทรงสถาปนาให้เป็นรัชชทายาทนั้น ถ้าพระมารดาเป็นพระอัครมเหษี ให้มีพระเกียรติยศเรียกว่า สมเด็จหน่อพุทธเจ้า ถ้าพระราชกุมารที่จะเป็นผู้รับรัชชทายาท พระมารดามีเกียรติยศต่ำกว่าพระอัครมเหษีลงมา เป็นแต่เพียงแม่หยั่วเมืองไซร้ มีพระเกียรติยศเรียกเพียงว่า พระมหาอุปราช ตามเนื้อความที่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดาร พระราชกุมารที่เรียกว่า สมเด็จหน่อพุทธเจ้า มีแต่พระองค์เดียว คือ สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร แต่จะมีพระองค์อื่นอีกหรืออย่างไร ไม่ได้กล่าวไว้ในหนังสือพระราชพงศาวดาร ตอนหลังมา เรียกแต่ว่า พระมหาอุปราช ทั้งนั้น

อิสสริยยศสำหรับราชตระกูล รองแต่พระมหาอุปราชลงมา พระเจ้าแผ่นดินทรงสถาปนาให้มีพระนามขึ้นด้วยคำว่า พระ เป็นราชประเพณีมาแต่ครั้งสุโขทัย มีตัวอย่างในศิลาจารึกของพระเจ้ารามคำแหงมหาราชว่า เมื่อยังเป็นลูกยาเธอพระองค์ที่ ๒ อยู่ มีความชอบชนช้างชนะขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด พระราชบิดาสถาปนาให้มีพระนามว่า พระรามคำแหง ดังนี้ อิสสริยยศที่เป็น พระ ยังใช้มาในชั้นกรุงเก่าเป็นราชธานี เช่น พระราเมศวร พระบรมราชา พระอินทราชา เป็นต้น ตลอดลงมาจนถึงแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ก็ยังมิได้มีอิสสริยยศเจ้านายที่ใช้เรียกนามตามกรมว่า กรมหมื่น กรมขุน ประเพณีเรียกพระนามเจ้านายตามนามกรมอย่างทุกวันนี้พึ่งมีขึ้นเมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงตั้งสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าศรีสุพรรณ เป็น เจ้ากรมหลวงโยธาทิพ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุดาวดี เป็น เจ้ากรมหลวงโยธาเทพ เป็นครั้งแรกที่มีเจ้านายเรียกพระนามตามกรม และใช้เป็นแบบแต่นั้นสืบมา

เหตุใดจึงได้เลิกวิธีตั้งเจ้านายขึ้นพระนามว่า พระ เปลี่ยนใช้พระนามตามกรม ไม่ปรากฏอธิบายไว้ในที่ใดชัดเจน แต่ดูเหมือนจะพอสันนิษฐานเหตุได้ ด้วยปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น มีเหตุอริกับพระเจ้าพี่ยาน้องยาเธอ ตั้งแต่เจ้าฟ้าไชยเป็นต้น ตลอดจนพระไตรภูวนาทิตยวงศ์ พี่ยาน้องยาเธอที่ได้มีอิสสริยยศ เชื่อได้ว่า ได้มีมาแต่แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททองแล้ว ที่ยังไม่ได้สถาปนาอิสสริยยศ มีเจ้าฟ้าอภัยทศเป็นต้น ก็มิได้ปรากฏว่า สมเด็จพระนารายณ์ทรงยกย่องอย่างใด นับว่า ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช งดการสถาปนาอิสสริยยศเจ้านายชั้นสูงที่เป็นพระองค์ชายตลอดทั้งรัชชกาล มีเนื้อความปรากฏในหนังสือมองซิเออร์ลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศส แต่งเรื่องเมืองไทยในครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กล่าวไว้แห่งหนึ่งว่า สมเด็จพระนารายณ์มหราชได้ทรงยกย่องพระราชธิดาให้มีข้าคนเป็นบริวาร และมีเมืองส่วยขึ้นเท่ากับเกียรติยศพระอัครมเหษี เนื้อความดังปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารและในหนังสือของมองซิเออร์ลาลูแบร์ที่กล่าวนี้ เป็นข้อให้สันนิษฐานว่า ที่กล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า ทรงตั้งกรมหลวงโยธาทิพ กรมหลวงโยธาเทพ นั้น ที่จริงไม่ใช่เป็นการสถาปนาอิสสริยยศอย่างเราเข้าใจกันทุกวันนี้ ด้วยราชประเพณีครั้งกรุงเก่าก่อนนั้น แม้เจ้านายพระองค์หญิง เมื่อสถาปนาอิสสริยยศให้สูงขึ้น ก็มีพระนามขึ้นว่า พระ เหมือนกับพระองค์ชาย มีตัวอย่างเช่น พระสุริโยทัย พระเทพกษัตรีย์ พระวิสุทธิกษัตรีย์ ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ปรากฏอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดาร การที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงตั้งกรมหลวงโยธาทิพ กรมหลวงโยธาเทพ นั้น ความจริง คือ โปรดให้รวมคนเข้าสังกัดหมวดหมู่ตั้งขึ้นเป็นกรมใหม่ ๒ กรม ให้เจ้ากรมเป็นหลวง มีชื่อว่า หลวงโยธาทิพ กรม ๑ หลวงโยธาเทพ กรม ๑ กรมหลวงโยธาทิพ ให้ขึ้นในสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าศรีสุพรรณ กรมหลวงโยธาเทพ ให้ขึ้นในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุดาวดี คนทั้งหลายจึงเรียกพระนามสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอพระองค์นั้นว่า เจ้ากรมหลวงโยธาทิพ เรียกสมเด็จพระเจ้าลูกเธอว่า เจ้ากรมหลวงโยธาเทพ หมายความว่า ผู้เป็นเจ้าขิงกรมโยธาทิพและกรมโยธาเทพ ไม่ใช่เป็นพระนามส่วนพระองค์ ความข้อนี้ พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ในหนังสือพระราชวิจารณ์ ถ้าท่านผู้ใดอยากทราบความโดยพิสดาร จงไปอ่านพระบรมราชาธิบายนั้นเถิด ด้วยเหตุนี้ ชื่อเจ้ากรมจึงเหมือนกับนามเจ้าต่างกรมมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ ซึ่งเป็นพยานให้พิจารณาเห็นได้ว่า ที่จริง พระนามที่เรียกเจ้านายนั้น เป็นนามกรม มิใช่เป็นพระนามเจ้า ผิดกันกับแบบเดิมที่สถาปนาเป็น พระบรมราชา แลพระอินทราชา เป็นต้น ประเพณีนั้นเป็นอันเลิกมาตั้งแต่ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ถึงแผ่นดินสมเด็จพระเพ็ทราชา ทรงประพฤติแบบแผนตามแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่เหตุการณ์ในแผ่นดินนั้นผิดกัน คือ ที่จำต้องทรงตั้งเจ้านายพระองค์ชายชั้นสูง จึงทรงตั้งหลวงสรศักดิ์ พระราชโอรส เป็นพระมหาอุปราช และให้พระมหาอุปราชเสด็จอยู่ที่วังจันทรเกษม ซึ่งเปลี่ยนนามเรียกให้สูงขึ้นว่า พระราชวังบวรสถานมงคล จึงเลยเอาชื่อวังนั้นเป็นชื่อเรียกรวมบรรดาข้าราชการที่ขึ้นในพระมหาอุปราชว่า กรมพระราชวังบวรสถานมงคล นามนี้ก็เป็นนามหมวดหมู่ของข้าราชการ มิใช่นามของพระมหาอุปราช และยังมีอีกตำแหน่ง ๑ ซึ่งตั้งขึ้นใหม่ทีเดียวในแผ่นดินสมเด็จพระเพ็ทราชา คือ ทรงตั้งนายจบคชประสิทธิ์ศิลป์ทรงบาศขวา ซึ่งเป็นคู่คิดเอาราชสมบัติ ให้เป็นเจ้า มีอิสสริยยศชั้นสูงรองแต่พระมหาอุปราชลงมา และให้ไปอยู่ที่วังหลัง เรียกนามวังหลังว่า พระราชวังบวรสถานพิมุข เอานามนี้ใช้เป็นนามกรมของข้าราชการที่สังกัดขึ้นในวังหลังว่า กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข โดยทำนองเดียวกับข้าราชการที่ขึ้นในพระมหาอุปราช นอกจากนั้น จะทรงยกย่องเจ้านายพระองค์ใด ก็ให้ว่า กรม และเรียกพระนามตามกรมตามแบบในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงเลยเป็นแบบตั้งเจ้านายต่างกรมสืบต่อมาด้วยประการฉะนี้ ในหนังสือราชการครั้งกรุงเก่าและครั้งกรุงรัตนโกสินทรตลอดลงมาจนรัชชกาลที่ ๓ เมื่อออกพระนามเจ้านายต่างกรม ยังใช้ขึ้นคำว่า เจ้า ก่อน มิได้ขึ้นว่า กรม ยกตัวอย่างดังในหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีที่ไทยทำกับอังกฤษเมื่อในรัชชกาลที่ ๓ ยังเขียนว่า ได้ตรวจสัญญานั้นหน้าพระที่นั่งเจ้ากรมหมื่นสุรินทรรักษ์ ไม่ได้เรียกพระนามว่า กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ อย่างทุกวันนี้

อิสสริยยศเจ้าตามแบบเดิมซึ่งขึ้คำว่า พระ อันปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารแต่ก่อนมา เมื่อถึงแผ่นดินสมเด็จพระเพ็ทราชา ดูลดเอาลงมาใช้เป็นยศเจ้าราชนิกูล เช่น เจ้าพระพิไชยสุรินทร เจ้าพระอินทรอภัย เจ้าพระบำเรอภูธร เป็นต้น ข้าพเจ้าสงสัยว่า คำว่า พระ ที่จริงจะไม่มี หากผู้เขียนหนังสือพระราชพงศาวดารจะเขียนเลยไป ข้อนี้มีพยานจะเห็นได้ในครั้งกรุงธนบุรี ก็เรียกเจ้าราชนิกูลว่า เจ้า เฉย ๆ เช่น เจ้ารามลักษณ์ เป็นต้น

๑. พระราเมศวร เคยมี ๔ พระองค์ คือ ในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ พระองค์ ๑ ในแผ่นดินสมเด็จพระราเมศวรพระองค์ ๑ (แต่เพราะหนังสือพระราชพงศาวดารเรียกพระนามพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นตามอิสสริยยศเดิมว่า พระราเมศวร จึงเรียกราชโอรสซึ่งได้รับรัชชทายาทว่า พระรามราชา ซึ่งข้าพเจ้าเข้าใจว่า ที่จริงเป็นตำแหน่งพระราเมศวรนั่นเอง) แผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ พระองค์ ๑ แผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิพระองค์ ๑ ลูกเธอที่ยกขึ้นเป็นพระราเมศวรล้วนแต่เป็นลูกเธอพระองค์ใหญ่ อยู่ในที่รับรัชชทายาท ข้าพเจ้าเข้าใจว่า จะเป็นพระนาม ๑ ซึ่งสำหรับอภเศกผู้รับรัชชทายาท

๒. พระนเรศวร มีแต่ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชพระองค์เดียว จดหมายเหตุของโปจุเกตว่า ราษฎรเรียกกันว่า เจ้าดำ (คู่กับ เจ้าขาว คือ สมเด็จพระเอกาทศรถ) น่าเข้าใจว่า เมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ จะเรียกกันว่า พระองค์ดำ มาแต่ยังทรงพระเยาว์ ซึ่งอภิเษกเป็นพระนเรศวร (อันเทียบด้วยพระนาม พระราเมศวร นั้นเอง) เมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชได้ครองกรุงศรีอยุธยา

๓. พระมหินทร์ มีในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิพระองค์เดียว (เห็นจะแปลงจากพระนาม อินทราชา เหตุที่แปลงนั้น จะเห็นได้ในอธิบายต่อข้างหน้า)

๔. พระเอกาทศรถ (ที่ใช้เป็นนามพระเจ้าลูกเธอ) มีในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชพระองค์เดียว

๕. พระอาทิตยวงศ์ มีในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ พระองค์ ๑ ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมพระองค์ ๑

๖. พระไตรภูวนาทิตยวงศ์ (ซึ่งเข้าใจว่า เทียบด้วยพระอาทิตยวงศ์นั้นเอง) มีในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททองพระองค์ ๑

๗. พระศรีศิลป์ มี ๓ พระองค์ คือ ในแผ่นดินสมเด็จพระไชยราชาธิราช พระองค์ ๑ เป็นพระนามเดิมของพระเจ้าทรงธรรม (ซึ่งเป็นข้อสงสัยของผู้ศึกษาพงศาวดารอยู่ว่า เป็นพระนามยศเมื่อก่อนทรงผนวช เพราะเป็นเชื้อพระวงศ์สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ) พระองค์ ๑ ในแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรมมีพระศรีศิลป์อีกพระองค์ ๑

๘. พระศรีเสาวราช มี ๒ พระองค์ คือ ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิพระองค์ ๑ ปรากฏพระนามนี้ในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรอีกพระองค์ ๑

๙. พระเชษฐาธิราชกุมาร มี ๒ พระองค์ ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถพระองค์ ๑ ในแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรมพระองค์ ๑

๑๐. พระรัฏฐาธิราชกุมาร มีในแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูรพระองค์เดียว

๑๑. พระนารายณ์ราชกุมาร หรือสุรินทราชกุมาร ปรากฏเป็น ๒ นัยอยู่ คือ พระนามของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเมื่อยังเป็นลูกเธอในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

พระนามยศของเจ้านายครั้งกรุงศรีอยุธยายังมีอีกประเภท ๑ ซึ่งลงท้ายพระนามว่า ราชา คือ

๑๒. พระบรมราชา มี ๓ พระองค์ ในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ พระองค์ ๑ แผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถพระองค์ ๑ แผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ พระองค์ ๑

๑๓. พระอินทราชา มี ๔ หรือ ๕ พระองค์ คือ ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ พระองค์ ๑ (หรือ ๒ พระองค์) ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถพระองค์ ๑ ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททองพระองค์ ๑

๑๔. พระไชยราชา มีในแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูรพระองค์เดียว

๑๕. พระเทียรราชา มีในแผ่นดินสมเด็จพระไชยราชาธิราชพระองค์เดียว

๑๖. พระมหาธรรมราชา มีในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิพระองค์ ๑ (หนังสือพระราชพงศาวดารว่า มีในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรอีกพระองค์ ๑ ซึ่งข้าพเจ้าไม่เชื่อว่ามีจริง)

๑๗. พระศรีสุธรรมราชา มีในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททองพระองค์ ๑ (เห็นจะแปลงมาจากพระมหาธรรมราชานั้นเอง)

พระนามเจ้านายที่ลงท้ายว่า ราชา นี้ ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่า เดิมเห็นจะเป็นพระนามสำหรับเจ้านายที่ทรงตั้งให้ไปปกครองหัวเมืองเป็นประเทศราช จึงลงท้ายพระนามว่า ราชา มีตัวอย่างดังพระบรมราชาได้ครองเมืองสุพรรณบุรีพระองค์ ๑ ครองเมืองพิษณุโลกพระองค์ ๑ พระอินทราชาครองเมืองสุพรรณบุรี ๒ พระองค์ พระมหาธรรมราชา (เอาอย่างนามพระเจ้ากรุงสุโขทัยแต่ก่อน) ตั้งไปครองเมืองพิษณุโลก แต่ที่เป็นตัวอย่างชัดเจนดีนั้น คือ สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร เดิมเมื่ออยู่กรุงศรีอยุธยา มีพระนามว่า พระอาทิตยวงศ์ ชั้น ๑ แล้ว เมื่อจะขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก จึงได้เป็นพระบรมราชา เจ้านายครองเมืองที่ไม่มีพระนามว่า ราชา ลงท้าย มีแต่ที่เป็นพระมหาอุปราช คือ พระราเมศวรและพระนเรศวร ด้วยสังเกตเห็นดังนี้ จึงเข้าใจว่า พระนามที่ลงท้ายว่า ราชา จะเป็นตำแหน่งสำหรับเจ้าครองเมือง แต่ตามการที่เป็นจริงดังปรากฏในพระราชพงศาวดาร เจ้านายที่มีนามว่า ราชา อยู่ท้าย ไม่ได้ไปครองเมืองทุกองค์ เช่น พระเทียรราชา พระศรีสุธรรมราชา ก็ไม่ปรากฏว่า ได้ออกไปครองเมือง

ยังมีพระนามเจ้านายอีกประเภท ๑ ที่เรียกในพระราชพงศาวดารว่า เจ้าทองลัน ก็ดี พระแก้วฟ้า หรือพระยอดฟ้า ก็ดี ข้าพเจ้าเข้าใจว่า เป็นพระนามก่อนสถาปนาพระเกียรติยศเหมือนอย่าง (เจ้าฟ้า) พระขวัญ และ (เจ้าฟ้า) พระตรัสน้อย ในแผ่นดินสมเด็จพระเพ็ชราชา

ประเพณีที่สถาปนาเกียรติยศเจ้านายให้มีพระนามขึ้นว่า พระ เช่นที่กล่าวมานี้ ที่เป็นพระองค์หญิงปรากฏในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ คือ พระสุริโยทัย พระองค์ ๑ พระวิสุทธิกษัตรีย์ พระองค์ ๑ พระเทพกษัตรีย์ พระองค์ ๑ (อีก ๒ พระนามที่เรียกว่า พระสวัสดิราช และพระแก้วฟ้า ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเหมือนกัน ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ผู้จดหนังสือจะหลงเอาคำ พระ มาใช้ในที่ซึ่งควรใช้คำ เจ้า)

พระนามเจ้านายที่ปรากฏมาในพระราชพงศาวดารครั้งกรุงศรีอยุธยา มีประหลาดน่าสังเกตอยู่ ๒ พระนาม ที่เรียกว่า เจ้าแก้ว และเจ้าไทย ๒ พระนามนี้ เห็นจะเป็นนามตำแหน่ง มิใช่นามฉะเพาะพระองค์เป็นแน่ แต่จะเป็นตำแหน่างอย่างไรและเป็นเจ้านายชั้นใด คิดยังไม่เห็น มีปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารครั้งแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ที่เรียกว่า เจ้าแก้ว เจ้าไทย ต่อมาในแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ เมื่อไปตีกรุงกัมพูชาได้ ว่า ได้ตัวพระยาแก้ว พระยาไทย (เขมร) เข้ามาด้วย แต่ในหนังสือพระราชพงศาวดารชั้นหลังเขียน “พระองค์” แทน “เจ้า” มีพระองค์แก้วต่อมาในพระราชพงศาวดารอีกหลายพระองค์ ส่วนพระองค์ไทยนั้นหายไป เปลี่ยนเป็นพระองค์ทอง ปรากฏครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราชว่า ตั้งให้ขึ้นไปว่าราชการเมืองพิไชยพระองค์ ๑ และเป็นลูกเธอสมเด็จพระเจ้าปราสาททองพระองค์ ๑

แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

๑. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าศรีสุพรรณ เป็นกรมหลวงโยธาทิพ

๒. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุดาวดี เป็นกรมหลวงโยธาเทพ

แผ่นดินสมเด็จพระเพ็ทราชา

๑. พระเจ้าสรศักดิ์ ราชโอรส (คือ สมเด็จพระเจ้าเสือ) เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ที่พระมหาอุปราช

๒. นายจบคชประสิทธิ์ ทรงบาศขวา กรมช้าง (ซึ่งเป็นคู่คิดเอาราชสมบัติ) เป็นกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข

๓. พระองค์เจ้าหญิงแก้ว พระเจ้าลูกเธอสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เจ้าจอมมารดาเป็นท้าวศรีจุฬาลักษณ์ พระสนมเอก พระน้องนางของสมเด็จพระเพ็ทราชา ครั้นถึงแผ่นดินสมเด็จพระเพ็ทราชา จึงยกพระองค์เจ้าแก้วขึ้นเป็นเจ้าฟ้าและเป็นกรมขุนเสนาบริรักษ์

แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเสือ

๑. พระมเหษีกลางของสมเด็จพระเพ็ชราชา ซึ่งเป็นพระราชมารดาเลี้ยงและได้ทรงทำนุบำรุงมาแต่ยังทรงพระเยาว์ เป็นกรมพระเทพามาตย์

๒. เจ้าฟ้าเพ็ชร ราชโอรสพระองค์ใหญ่ (คือ สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ) เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ที่พระมหาอุปราช

๓. เจ้าฟ้าพร ราชโอรส เป็นพระบัณฑูรน้อย แต่ไม่ปรากฏนามกรม

แผ่นดินพระเจ้าท้ายสระ

๑. เจ้าฟ้าพร สมเด็จพระอนุชาธิราช (คือ สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ) เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ที่พระมหาอุปราช

๒. เจ้าท้าวทองสุก พระราชชายาเดิม ยกเป็นพระอัครมเหษี มีพระนามกรม เป็นกรมหลวงราชานุรักษ์

๓. เจ้าฟ้านเรนทร์ ราชโอรส เป็นกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์

แผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ

๑. พระองค์ขาว พระราชายาเดิม ยกเป็นพระมเหษีขวา มีพระนามกรม เป็นกรมหลวงอภัยนุชิต

๒. พระองค์พลับ พระราชชายาเดิม ยกเป็นพระมเหษีซ้าย มีพระนามกรม เป็นกรมหลวงพพิธมนตรี

๓. เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ พระราชโอรส (คือ เจ้าฟ้ากุ้ง) เป็นกรมขุนเสนพิทักษ์ ภายหลังได้เลื่อนเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ที่พระมหาอุปราช

๔. เจ้าฟ้าเอกทัศ ราชโอรส (คือ สมเด็จพระเจ้าสุริยามรินทร์) เป็นกรมขุนอนุรักษ์มนตรี

๕. เจ้าฟ้าอุทุมพร (คือ เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ ราชโอรสที่ปรากฏพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรราชา หรือขุนหลวงหาวัด) เป็นกรมขุนพรพินิต

๖. เจ้าฟ้าบรม ซึ่งเป็นราชธิดา เป็นกรมขุนเสนีนุรักษ์

๗. เจ้าฟ้านุ่ม พระราชธิดา ซึ่งพระราชทานให้เป็นพระชายากรมพระราชวังบวรเสนาพิทักษ์ เป็นกรมขุนพิศาลเสนี (ในหนังสือพระราชพงศาวดารเขียนว่า ยี่สานเสนี เห็นจะผิด)

๘. เจ้าฟ้าจีด ซึ่งพระองค์เจ้าแก้ว พระเจ้าลูกเธอสมเด็จพระเพ็ทราชา เป็นพระบิดา เจ้าฟ้าเทพ พระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าท้ายสระเป็นพระมารดา ปรากฏในหนังสือบางฉะบับว่า เป็นกรมขุนสุรินทรสงคราม

๙. พระองค์เจ้าแขก พระเจ้าลูกเธอ เป็นกรมหมื่นเทพพิพิธ

๑๐. พระองค์เจ้ามังคุด พระเจ้าลูกเธอ เป็นกรมหมื่นจิตรสุนทร

๑๑. พระองค์เจ้ารถ พระเจ้าลูกเธอ เป็นกรมหมื่นสุนทรเทพ

๑๒. พระองค์เจ้าปาน พระเจ้าลูกเธอ เป็นกรมหมื่นเสพภักดี

๑๓. มีพระนามเจ้าต่างกรมปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงเก่าอีกองค์ ๑ ทราบไม่ได้แน่ว่าใคร ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่า จะเป็นเจ้าพระพิไชยสุรินทร์ ราชนิกูลที่มีความชอบครั้งถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระเจ้าเสือนั้น เป็นกรมหมื่นอินทรภักดี

แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าสุริยามรินทร์

๑. เลื่อนกรมหลวงพิพิธมนตรี สมเด็จพระราชชนี เป็นกรมพระเทพามาตย์

๒. ในคำให้การขุนหลวงหาวัด ฉะบับพม่า ว่า ทรงตั้งพระองค์เจ้าแมลงเม่า พระอัครมเหษี มีพระนามกรมเป็นกรมขุนวิมลภักดี

๓. หม่อมเจ้าอาทิตย์ ในกรมพระราชวังบวรเสนาพิทักษ์ เป็นกรมหมื่นพิทักษ์ภูเบศร์

๑. พระราชชนนีพันปีหลวง เป็นกรมพระเทพามาตย์ พระองค์ ๑

๒. ตั้งพระมเหษีเดิม เป็นกรมหลวงบาทบริจาริกา พระองค์ ๑

๓. ตั้งพระญาติวงศ์ ไม่ทราบว่าชั้นใด เป็นกรมขุนอินทรพิทักษ์ พระองค์ ๑ เข้าใจว่า อยู่ไม่ช้าก็สิ้นพระชนม์

๔. ตั้งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุ้ย เป็นกรมขุนอินทรพิทักษ์

๕. ตั้งเจ้าบุญมี หลานเธอ ซึ่งเป็นเจ้ารามลักษณ์ ตำแหน่งราชนิกูล อยู่ก่อนแล้ว เป็นกรมขุนอนุรักษ์สงคราม ๑

๖. ตั้งเจ้าบุญจันทร หลานเธอ เป็นกรมขุนรามภูเบศร์ ๑

เมื่อท่านผู้ใดอ่านดูโดยพิจารณา จะเห็นได้ในบาญชีเจ้านายต่างกรมครั้งกรุงเก่าและกรุงธนบุรีที่พิมพ์ไว้ในหนังสือเรื่องนี้ว่า ตั้งแต่เกิดประเพณีเรียกพระนามตามกรมมา อิสสริยศของเจ้านายชั้นสูงที่สุดเป็นเพียงกรมพระ มีแต่สมเด็จพระพันปีหลวงกับพระมหาอุปราชและวังหลัง อิสสริยศชั้นรองลงมาที่เป็นกรมหลวงนั้น ประหลาดที่มีแต่เจ้านายฝ่ายใน ไม่มีเจ้านายพระองค์ชายได้เป็นสักพระองค์เดียว แม้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอก็ดี สมเด็จพระเจ้าหลานเธอก็ดี ที่เป็นพระองค์ชาย เป็นแต่เพียงกรมขุน ส่วนพระองค์เจ้านั้นได้เป็นเพียงกรมหมื่นเท่านั้น อีกประการหนึ่ง ในครั้งกรุงเก่า มิได้ปรากฏการเลื่อนกรมสักครั้งเดียว มีแต่ตั้งพระมหาอุปราช

ราชประเพณีตั้งกรมเจ้านายเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานี จะทำอย่างไรไม่ปรากฏชัด ได้หลักฐานปรากฏแต่ว่า มีการสรงอภิเษกอย่าง ๑ กับได้พระราชพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฏอย่าง ๑ ส่วนรายการมีปรากฏเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจะโปรดฯ ให้อุปราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยขึ้นเป็นพระมหาอุปราชนั้น โปรดฯ ให้ทำการพระราชพิธีตามแบบอย่างครั้งสมเด็จพระเจ้าบรมโกศทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิต เป็นพระมหาอุปราช แบบแผนที่เอามาเป็นตัวอย่างนี้ก็เห็นจะไม่ตรงกับแบบอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยาในรัชชกาลก่อน ๆ ขึ้นไป ด้วยเมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมโกศทรงตั้งเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตเป็นพระมหาอุปราชนั้น เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตไม่มีวังต่างหาก ประทับอยู่ที่ตำหนักกระต่ายในพระราชวังหลวง จึงทำการพระราชพิธีที่พระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ปราสาทในพระราชวังหลวง เป็นแต่แห่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอแต่ตำหนักมายังที่ทำการพิธีทุกวันจนตลอดงาน สันนิษฐานว่า ถ้าเจ้านายที่จะเป็นพระมหาอุปราชเสด็จประทับอยู่วังต่างหาก ก็เห็นจะทำการพระราชพิธีที่พระราชวังบวร และแห่เจ้านายพระองค์นั้นจากวังที่ประทับไปยังที่ทำการพิธีในพระราชวังบวร แต่ต้องเสด็จเข้ามารับพระราชทานพระสุพรรณบัฏในพระราชวังหลวง ประเพณีการตั้งกรมในกรุงรัตนโกสินทร ส่วนการอุปราชาภิเษกครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเป็นพระมหาอุปราช มีรายการปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุกรมอาลักษณ์ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ได้ทรงนำมาเรียบเรียงไว้ในหนังสือเรื่อง ตั้งพระวงศานุวงศ์กรุงรัตนโกสินทร์ โดยพิศดาร ปรากฏว่า ได้ใช้ระเบียบการคราวนี้เป็นแบบอย่างสำหรับการพราชพิธีอุปราชาภิเษกในรัชชกาลหลัง ๆ ต่อมา แก้ไขเพียงแต่ตั้งพระราชพิธีที่พระราชวังบวร แห่เจ้านายซึ่งจะรับอุปราชาภิเษกจากพระราชวังหลวงขึ้นไปยังที่ทำการพิธีทุก ๆ วันจนถึงวันเฉลิมพระราชมนเทียร แต่เมื่อรัชชกาลที่ ๔ นั้น เพราะทรงสถาปนาพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างเจ้าแผ่นดินอีกพระองค์ ๑ จึงโปรดฯ ให้เสด็จขึ้นไปประทับอยู่ณพระบวรราชวังตั้งแต่ก่อนทำพระราชพิธีบวรราชาภิเษก หาได้แห่เสด็จไปจากพระราชวังหลวงเหมือนอย่างกรมพระราชวังบวรสถานมงคลไม่

ส่วนประเพณีการตั้งกรมเจ้านายอื่น ๆ นั้น พิเคราะห์ดูตามความที่ปรากฏในจดหมายเหตุอาลักษณ์ ดูเหมือนเมื่อในรัชชกาลที่ ๑ รัชชกาลที่ ๒ และรัชชกาลที่ ๓ จะไม่ได้พระราชทานพระสุพรรณบัฏต่อพระหัตถ์ และไม่มีประกาศ เป็นแต่เมื่อมีรับสั่งให้เลื่อนกรมหรือตั้งกรมเจ้านายพระองค์ใด เจ้าพนักงานก็มีหมายรับสั่งให้ประชุมเสนาบดีและอาลักษณ์จารึกพระสุพรรณบัฏ ครั้นจารึกแล้วก็เข้าถุงใส่พานรักษาไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามจนถึงวันกำหนดงาน จึงเชิญพระสุพรรณบัฏไปตั้งในมณฑลพิธีที่วังของเจ้านาย ในเย็นวันนั้น พระสงฆ์สวดมนต์ รุ่งขึ้นเวลาเช้า เลี้ยงพระ ครั้นถึงเวลาฤกษ์ เจ้านายที่จะได้เลื่อนกรมหรือรับกรมนั้นก็เสด็จเข้าสู่ที่สรงอภิเษก ครั้นสรงแล้ว อาลักษณ์จึงเชิญพระสุพรรณบัฏมอบถวายในที่ทำการพิธี เมื่อเสร็จพิธีแล้ว เจ้านายพระองค์นั้นจึงเสด็จเข้าไปเฝ้าถวายดอกไม้ธูปเทียน

ถึงรัชชกาลที่ ๔ ทรงแก้ไขประเพณีการตั้งกรม เหตุด้วยทรงพระราชปรารภว่า เจ้านายที่เลื่อนกรมและรับกรมชั้นแรกนั้นเป็นชั้นพระเจ้าบรมวงศ์เธอและพระเจ้าพี่ยาเธอโดยมาก จึงเสด็จพระราชดำเนิรไปพระราชทานพระสุพรรณบัฏถึงวัง และเพิ่มการประกาศยกย่องความชอบให้อาลักษณ์อ่านเมื่อก่อนพระราชทานพระสุพรรณบัฏด้วย อันประเพณีการอ่านประกาศเมื่อทรงสถาปนาพระเกียรติยศนี้ ได้พบในหนังสือเก่าก่อนรัชชกาลที่ ๔ มีแต่ในการทรงตั้งสมเด็จพระสังฆราชกับสมเด็จพระวันรัตน์ บางทีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะโปรดฯ ให้ขยายประเพณีนั้นมาใช้ในการตั้งกรมเจ้านายด้วย แต่มิได้เสด็จไปพระราชทานพระสุพรรณบัฏถึงวังทั่วไปทุกพระองค์ ต่างกรมวังหน้าและพระองค์เจ้าตั้งนั้น เมื่อทำพิธีที่วังแล้ว โปรดฯ ให้เข้าไปรับพระราชทานพระสุพรรณบัฏต่อพระหัตถ์ที่ในพระบรมมหาราชวังในเวลาเดียวกับถวายดอกไม้ธูปเทียน ประเพณีการตั้งกรมซึ่งทรงแก้ไขในรัชชกาลที่ ๔ คงใช้ต่อมาในรัชชกาลที่ ๕ จน พ.ศ. ๒๔๓๘ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบฝ่าลอองธุลีพระบาทว่า การที่ทำพิธีรับและเลื่อนกรมที่วังเจ้านายนั้นเป็นการเปลืองและเดือดร้อนแก่เจ้านายที่จะได้เลื่อนและรับกรมอยู่ทั่วกันมิมากก็น้อย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนประเพณีการเลื่อนและตั้งกรมมาทำในพระบรมมหาราชวังเป็นครั้งแรกเมื่องานฉลองวันที่ในรัชชกาลครบหมื่นวัน ต่อมา โปรดฯ ให้ทำในพระราชพิธีฉัตรมงคล ตั้งน้ำพระพุทธมนต์และพระสุพรรณบัฏในพระแท่นมณฑล ถือเอาการสวดมนต์ในท้องพระโรงเป็นสวดมนต์ตั้งกรมด้วย รุ่งขึ้น เสด็จออกท้องพระโรง พระราชทานน้ำพระพุทธมนต์อภิเษกและพระสุพรรณบัฏแก่พระบรมวงศานุวงศ์ที่เลื่อนและรับกรมในที่มหาสมาคม เป็นประเพณีสืบต่อมาจนทุกวันนี้

ดำรงราชานุภาพ
ดำรงราชานุภาพ

บรรณานุกรม[แก้ไข]

  • ดำรงราชานุภาพ, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. (2472). อธิบายว่าด้วยยศเจ้า. พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร. (พิมพ์ในงานพระกฐินพระราชทานพระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ ณวัดระฆังโฆสิตารามเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2472).

งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า

ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
  2. ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
    1. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
    2. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
  2. แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก